ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 52” เผยปัญหา สธ.-สปสช.ขัดแย้ง กระทบ รพช. เหตุขาดความชัดเจนจัดสรรงบลงหน่วยบริการ แถมล่าช้า ส่งผลต่อการวางแผนบริหารงบล่วงหน้า กระทบประสิทธิภาพบริการดูแลประชาชน ชี้“รมว.สธ.ยุคเฉพาะกาล” ต้องหาต้นเหตุของปัญหาพร้อมประสานให้เป็นทีมเดียวกัน ถ้ายังหาข้อยุติไม่ได้ หวั่นทำ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งดีที่สุดที่ไทยเคยมีมาต้องล้มจากความแตกแยกที่ไม่น่าเกิด เผยถ้าเปรียบเป็นมวย ระบบสุขภาพของไทยก็มีหลายคู่แล้ว

นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต

3 พ.ย.57 นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ (แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2552) กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการบริหารระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในฐานะที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งห่างไกลจากส่วนกลาง ทำให้ไม่ทราบสาเหตุภายในของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนของ รพช.ขณะนี้ยอมรับว่าต่างได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนในการจัดสรรงบประมาณของแต่ละไตรมาสที่จะส่งมายัง รพ. ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการวางแผนการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณในการบริการประชาชน

นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า อย่างงบไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 กว่าที่ สป.สธ. และ สปสช.จะคุยกันรู้เรื่อง และ รพ.ได้ทราบตัวเลขงบที่จะได้รับชัดเจนก็เลยเข้าเดือนกันยายนแล้ว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหา และอยากให้มีการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งเท่าที่ทราบในส่วนของการจัดสรรงบลงหน่วยบริการไตรมาส 2 ของปี 2558 ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ถึงแนวทางการกระจายงบประมาณ หากยังไม่สรุปได้และยังยืดเยื้อต่อไป ก็จะไม่เป็นผลดีและจะกระทบของงานดูแลประชาชนของ รพช.

“การกระจายงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อส่งมายัง รพช.ที่ผ่านมา วุ่นวายมาก พูดง่ายๆ เราไม่มีทางรู้ว่าจะได้เงินเท่าไหร หากเป็นการบริหารธุรกิจ จะรู้ล่วงว่าจะมีเงินเท่าไหร่ เพื่อใช้ในการบริหารอย่างไร เรียกว่าสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ซึ่งในความเห็นผม ได้เงินมาก เงินน้อยไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ทาง รพ.ควรรู้ว่าจะได้งบเท่าไหร่ตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้วางแผนบริหารได้ถูก ไม่ใช่มีแต่ความไม่แน่นอน” ผอ.รพ.ภูสิงห์ กล่าว

นพ.กิติภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องบอกว่ามุมมองในการบริหารของ สป.สธ. และ สปสช. ต่างยึดเรื่องเงินเป็นหลัก เพราะทาง สปสช.จะพูดถึงแต่งบผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก เป็นต้น ขณะที่ สป.สธ.เองก็จะพูดแต่วิกฤตการเงินของ รพ. โดยเน้นว่า รพ.ต้องบริหารไม่ให้เกิดวิกฤต กลายเป็นเป้าหมายหลักการบริหารของ รพ. ส่งผลให้ รพ.ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ ที่ควรทำลดลง อย่างเช่น การบริการประชาชนในชุมชน เป็นต้น  ทั้งนี้หากถามว่าเงินสำคัญหรือไม่ คงต้องตอบว่าสำคัญ แต่ยังมีมิติอื่นๆ อีกที่ต้องเน้นและให้ความสำคัญเช่นกัน เช่น ความร่วมมือชุมชน การป้องกันโรค ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การแก้ไขปัญหาสาธารณาสุข ไม่ได้มีแต่เรื่องวิกฤต รพ.เท่านั้น 

ส่วนข้อเสนอการปรับจัดสรรงบขาลงของทาง สธ. ทั้งการกระจายงบประมาณลงไปยังเขตบริการสุขภาพ และการยุบกองทุนย่อยให้เหลือเพียง 4 แถวนั้น นพ.กิติภูมิ ระบุว่า ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ การจัดสรรงบจะยังไงก็ได้ แต่ขอให้มีรูปแบบที่แน่นอน ไม่สร้างความสับสนให้กับ รพ. และที่สำคัญ รพ.ควรรู้ว่าจะได้รับการจัดสรรเท่าไหร่ตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ในการจัดสรรต้องมีการอิงข้อมูลที่ชัดเจน และการจัดสรรควรกระจายไปตามข้อมูลที่ส่งไป ไม่ใช่มีการหักลดลง ในภายหลังทั้งๆ ที่การบริการของ รพ.ยังเท่าเดิม สำหรับแนวทางการบริหารของ รพ.ขณะนี้ ในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนของการกระจายงบประมาณ ที่ทำได้ในทางบริหารคือ เน้นการทำงานเป็นหลัก แทนที่จะใช้เงินเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยมาคือให้บริการที่ดีที่สุด   

ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้เป็นช่วงการบริหารยุคเฉพาะกาล ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ควรที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างไร นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า อย่างน้อยต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่าง สป.สธ. และ สปสช.ได้ โดยต้องทำให้เป็นทีมเดียวกันให้ได้ แก้ปัญหาความขัดแย้ง หาปัญหาความขัดแย้งให้เจอคืออะไรและแก้ไข เพื่อให้รวมเป็นทีมเดียว ไม่เช่นนั้นโครงการดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา คือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันจะล้มลงได้ จากความแตกแยกอย่างไม่น่าจะเกิด เพราะตอนนี้ถ้านับเป็นมวย ก็จะพบว่าระบบสาธารณสุขก็มีอยู่หลายคู่แล้ว

ต่อข้อซักถามว่า มองว่าโอกาสความสำเร็จแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีแค่ไหน นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า ถ้าทุกคนเห็นปัญหา และ ศ.นพ.รัชตะ ตั้งใจแก้ไขปัญหาจริงก็น่าสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าคนในระบบสาธารณสุขต่างอึดอัดกับภาวะขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานาน ทำอย่างไรให้เลิกขัดแย้งได้ และเน้นการทำงานเพื่อประชาชนเป็นหลัก หาก รมว.สาธารณสุขประกาศเป็นนโยบายว่าต้องไม่มีความขัดแย้ง ไม่แตกแยก โดยให้มีการหันหน้ามาพูดคุยกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี

นอกจากนี้  นพ.กิติภูมิ ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงปัญหาค่าตอบแทนในระบบสาธารณสุข โดยมองว่า ทั้งการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ต่างมีความสำคัญ และต้องดำเนินการควบคู่ โดยในส่วนของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากระจายแพทย์ไปยังชนบท ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้ผล แต่จากที่ทาง สธ.ได้มีการปรับลดเงินจ่ายค่าตอบแทนในส่วนนี้ อาทิ แพทย์ที่ทำงานมา 20 ปี จากที่ได้เคยได้รับ 20,000 บาท เหลือเพียง 10,000 บาท ได้ส่งผลต่อการคงอยู่ของแพทย์ในพื้นที่แน่นอน กระทบต่อขวัญและกำลังใจคนทำงาน ขณะที่การจ่ายค่าตอบแทน P4P เป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพคนทำงาน ในการบริการประชาชน ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญที่เท่ากัน แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารได้ให้ความสำคัญต่อการจ่ายค่าตอบ P4P อย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อการกระจายแพทย์ในชนบทได้