ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศใช้เกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหา การส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐาน ให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทั่วประเทศ ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่ เป็นกลไกการตรวจสอบ โปร่งใส ไร้ทุจริต เริ่มตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

4 พ.ย.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำเกณฑ์จริยธรรมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดซื้อ จัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดธรรมมาภิบาล เป็นการสร้างกลไกการบริหารจัดการ เป็นบรรทัดฐานแก่บุคลากรทุกระดับภายในกระทรวงยึดเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน โดยมีกระบวนการจัดซื้อจัดหาที่โปร่งใส มีการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่ตรวจสอบได้อย่างรัดกุม ไร้การทุจริต เพื่อสร้างเป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องระบบคุณธรรม ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ.2556 เป็นต้นมา และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทุกวิชาชีพ และได้ลงนามและมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป และได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกเป็นระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขเป็นแนวหน้า กล้ายืนหยัดปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความถูกต้อง ทำงานเพื่อประชาชน และเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เกณฑ์จริยธรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 7 หมวดสำคัญ ได้แก่ หมวด 1 ว่าด้วย บททั่วไป เป็นการนิยามให้ความหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ยา ผู้แทนยา ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจ หน่วยงาน เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นการเฉพาะ หมวด 2 ว่าด้วย ผู้สั่งใช้ ต้องไม่รับผลประโยชน์จากบริษัทยาหรือเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาเป็นการส่วนตัว แต่สามารถรับในนามสถานพยาบาลหรือหน่วยงานได้ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน และสามารถรับในโอกาสพิเศษหรือตามวาระประเพณีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท เป็นต้น ผู้สั่งใช้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ไม่มุ่งหวังเพื่อส่งเสริมการขายหรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเอง และการสั่งใช้ยาต้องใช้ชื่อสามัญทางยา หมวด 3 ว่าด้วย ผู้บริหาร เช่น จะต้องคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย รวมทั้งการตรวจสอบยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ที่โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพสูงและป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน คำนึงถึงประสิทธิผล ความคุ้มค่า และความปลอดภัยของผู้ป่วย

หมวด 4 ว่าด้วย เภสัชกรหรือ ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหา การจ่ายและส่งมอบยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา จะต้องไม่โฆษณาอวดอ้าง หรือส่งเสริมการขาย จะต้องเสนอข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาแก่คณะกรรมการที่รับผิดชอบการคัดเลือกของสถานพยาบาล หมวด 5 ว่าด้วย บริษัทยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายของประเทศไทยที่คณะกรรการพัฒนาระบบยาแห่งชาติประกาศ รวมทั้งเคารพและปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานอย่างเคร่งครัด

หมวด 6 ว่าด้วย สถานพยาบาลหรือหน่วยงาน จะต้องกำหนดแนวปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ เป็นลายลักษณ์อักษรให้เหมาะกับบุคลากรแต่ละประเภท ทั้งผู้สั่งใช้ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจ สถานพยาบาล เภสัชกร ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบการรับการสนับสนุนและกำหนดเกณฑ์คัดเลือกบุคคลที่จะไปสัมมนา อบรม ดูงานทั้งในแต่ละต่างประเทศ โดยรับได้เฉพาะค่าเดินทาง ค่าลงทะเบียน ค่าวิทยากร ค่าอาหาร ค่าที่พักเท่านั้น โดยต้องก่อประโยชน์ให้สถานพยาบาลหรือหน่วยงาน ไม่มีเงือนไขผูกมัด เป็นต้น

หมวด 7 ว่าด้วย สถานศึกษา ต้องควบคุมดูแลอาจารย์ของสถานศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดีในแง่จริยธรรม มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งให้ความรู้และเจตนคติเกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาอย่างสมเหตุสมผล เชื่อถือได้ ปราศจากการชี้นำทางธุรกิจ เป็นการสร้างปลูกฝังแนวคิดเรื่องของคุณธรรมแก่นักศึกษารุ่นใหม่ เป็นบุคลากรที่คุณสมบัติทั้งเก่ง ดี มีคุณธรรม เป็นต้น

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เกณฑ์จริยธรรมฯ นี้จะใช้สำหรับการจัดซื้อยาที่ใช้ในภาคบริการทั้งหมดและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา 4 รายการหลักที่ใช้มาก ได้แก่ วัสดุการแพทย์ วัสดุทันตกรรม วัสดุเอ็กซ์เรย์ และวัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือวัสดุชันสูตร ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการติดตามควบคุม กำกับติดตามการบริหารจัดการจัดซื้อจัดหา การส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา รวมทั้งวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างรัดกุม