ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เห็นชอบมาตรการป้องกันควบคุมโรคอีโบลาของไทย ทั้งการระดมทุนช่วยเหลือประเทศต้นทางระบาด การจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขระดมความร่วมมือภูมิภาคอาเซียนบวกสาม การของบเร่งด่วนครม.ปี 2558 วงเงิน 187 ล้านบาทเศษ และจัดระบบดูแลค้นหาผู้ป่วยระหว่างสธ.-มหาวิทยาลัย เป็นระบบเดียวกัน เสริมความเข้มแข็งประเทศ

10 พ.ย.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พร้อมด้วย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 56 คน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคไวรัสอีโบลา ซึ่งจัดเป็นภาวะเร่งด่วนของประเทศ และระดับโลก และเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดตามมาจากโรคอีโบลา ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม    

นายยงยุทธกล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ ได้ติดตามการดำเนินงาน และเร่งรัดบูรณาการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ในการป้องกันและควบคุมการแพร่โรคอีโบลา ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีอันตรายรุนแรง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ขณะนี้กำลังระบาดอยู่ในทวีปอาฟริกาด้านตะวันตก ไทยและทุกประเทศทั่วโลกมีความเสี่ยง เนื่องจากอาจมีผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรคนำเชื้อเข้าสู่ประเทศได้ จึงต้องเตรียมระบบความพร้อมในการป้องกันโรคนี้อย่างเข้มแข็ง สถานการณ์ล่าสุด แหล่งแพร่โรคยังคงอยู่ในทวีปอาฟริกาตะวันตก องค์การอนามัยโลก รายงานจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ป่วยโรคอีโบลาใน 6 ประเทศอาฟริกา ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ร่าลีโอน มาลี ไนจีเรีย เซเนกัล และพบผู้ติดเชื้อนอกทวีปอาฟริกา 2 ประเทศคือ สเปน สหรัฐอเมริกา ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี รวมผู้ป่วย 13,268 ราย เสียชีวิต 4,960 ราย สำหรับประเทศไนจีเรียและเซเนกัล ไม่พบผู้ป่วยต่อเนื่องมาเกิน 42 วัน จึงนับว่าพ้นระยะการระบาดแล้ว

ที่ประชุมในวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบใน 4 มาตรการป้องกันโรคอีโบลา ได้แก่ 1.เห็นชอบให้จัดทำโครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยโรคอีโบลา โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภากาชาดไทย ระดมเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ส่งไปช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤติการระบาด 3 ประเทศ คือไลบีเรีย กินิและเซียร์ราลีโอน เพื่อควบคุมโรคที่ประเทศต้นทางให้ยุติโดยด่วน พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือของประเทศไทย โดยอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความพร้อม และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการร่วมมือป้องกันอีโบลา ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557    

2.เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ บวกสาม  คือจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี   เพื่อประสานความร่วมมือ การเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคอีโบลาในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2557 ซึ่งการจัดประชุมนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557  

3. เห็นชอบกรอบงบประมาณระยะเร่งด่วนปี 2558 ที่จะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานหลายภาคส่วน ในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่รวมถึงโรคอีโบลา วงเงิน 187 ล้านบาทเศษ โดยให้สำนักงบประมาณกลั่นกรองก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอขอความเห็นชอบจากครม. รวมทั้งเสนอขอค่าเสี่ยงภัยแก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอีโบลาด้วย และ4.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีศักยภาพสูง ให้ร่วมค้นหาและดูแลผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลาในระบบเดียวกัน รวมทั้งมีแผนพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลาเพิ่มอีก 6 แห่ง ได้แก่ รามาธิบดี ศิริราช เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ และพระมงกุฎเกล้า เพื่อเสริมความเข้มแข็งและความพร้อมของประเทศ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์และดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอีโบลา ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค ทั้งในคนและในสัตว์ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย และตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศที่กำลังมีการระบาด ที่ช่องทางเข้าออกประเทศ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ และด่านทางบก จนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 ได้คัดกรองผู้เดินทางแล้ว 2,848 คน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ส่วนกรมปศุสัตว์เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและควบคุมการนำเข้าสัตว์จากประเทศเขตติดโรค และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เข้มงวดควบคุมการนำเข้าสัตว์ป่าจากประเทศเขตติดโรค และสำรวจการติดเชื้อของสัตว์ป่าในประเทศ ได้แก่ ลิง ค้างคาว กวาง ไม่พบการติดเชื้อในสัตว์เช่นกัน

2.การเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย  กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศให้มีห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เน้นการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด มีชุดป้องกันการติดเชื้อของบุคลากร (PPE) อย่างเพียงพอ และพัฒนาโรงพยาบาล 20 แห่ง ประกอบด้วยส่วนกลาง 5 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัดต่างๆ 15 แห่ง ให้สามารถตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสอีโบลาภายใน 24 ชั่วโมง 2 แห่ง คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 

3.การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตระหนก และเพิ่มความตระหนักการป้องกันโรค ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคอีโบลา คำแนะนำวิธีป้องกันโรคแก่ผู้มีความเสี่ยงผ่านสื่อต่างๆ และประสานกับบริษัทการบินไทย ประกาศคำแนะนำการป้องกันโรคในเที่ยวบินที่มีผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด  รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปอาฟริกา และเข้มงวดการออกวีซ่าแก่ผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด  4.การเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าภาพหลักประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง 3 เหล่าทัพ จัดทำแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและการซักซ้อมความพร้อมในทุกสถานการณ์ตามระดับความรุนแรงหากเกิดโรคในประเทศ และ 5.การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือที่จำเป็นในการรับมือโรคอีโบลา เช่น ยา เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ โปรแกรมการจัดการข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยติดตามเฝ้าระวังผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดได้รวดเร็ว เป็นต้น มาตรการที่กล่าวมาของไทยมีความคืบหน้าด้วยดี สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและกฎอนามัยระหว่างประเทศ