ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยในปีรอบ 10 ปี ตั้งแต่ ปี 47-56 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 119,615 คน เฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่อายุ 15-24 ปี เป็นชายมากกว่าหญิง 3 เท่าตัว เร่งลดปัญหา โดยพัฒนาห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลทุกแห่ง มีเครื่องมือจำเป็น และตั้งศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้บาดเจ็บสาหัสทุกเขตสุขภาพ แนะประชาชน หากพบเห็นผู้บาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

15 พ.ย.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็น “วันโลกรำลึกถึงสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance For Road Traffic Victims) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก รำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งทางตรง เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน และทางอ้อม เช่น ค่าใช่จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัว เป็นต้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปี มีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรอายุ 15-29 ปี เกิดในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมากถึงร้อยละ 91 โดยมีประมาณ 20-50 ล้านคนที่รอดชีวิต แต่มีความพิการตามมา หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.9 ล้านคน

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในรอบ 10 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2547-2556 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวม 119,615 คน เฉลี่ยปีละ 11,962 คน ผลการวิเคราะห์ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตรวม 14,789 คน หรือเฉลี่ย 2 คน ในทุกๆ 1 ชั่วโมง เพศชายเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี หากจำแนกตามประเภทยานพาหนะ พบว่ารถจักรยานยนต์มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาระบบบริการ เพื่อลดการเสียชีวิตและป้องกันความพิการจากอุบัติเหตุจราจร ได้มอบนโยบายให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่งให้เชื่อมโยงกัน 3 ระบบใหญ่คือ 1.ระบบบริการก่อนถึงโรงพยาบาลหรืออีเอ็มเอส (EMS) ซึ่งมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านการอบรมอย่างมืออาชีพ ออกไปให้การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเบื้องต้นถึงจุดเกิดเหตุ อย่างรวดเร็ว และนำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้อย่างปลอดภัย โดยได้เปิดสายด่วน 1669 ให้ประชาชนทั่วประเทศ โทรแจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมงฟรี หลังรับแจ้งจะส่งทีมแพทย์กู้ชีพพร้อมรถพยาบาลที่มีเครื่องมือช่วยชีวิตครบครัน ออกไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที

2.พัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาล โดยเฉพาะจุดแรกรับคือที่ห้องฉุกเฉิน มีเครื่องมือช่วยชีวิตที่จำเป็นครบถ้วนและห้องผ่าตัด ห้องไอซียูอย่างมีคุณภาพ เพื่อผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์พยาบาลอย่างรวดเร็ว และได้รับการผ่าตัดภายใน 30 นาที และ 3.การพัฒนาระบบการส่งต่อ โดยกำหนดให้เขตสุขภาพมีศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเป็นการเฉพาะทุกเขต เพื่อให้การดูแลรักษากรณีที่มีอาการสาหัส ตั้งเป้าลดอัตราเสียชีวิตในปี 2558 ลงให้เหลือไม่เกิน 18 ต่อประชากรแสนคน ที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 22.9 ต่อประชากรแสนคน

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในการใช้ยวดยานพาหนะเพื่อให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุจาจร เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต ขอให้ประชาชนไม่ขับขี่รถทุกชนิดหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในผู้ใช้รถยนต์ ขอให้คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเบาะหน้า ส่วนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องใส่หมวกนิรภัยและล็อคสายรัดคางทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากแรงกระแทกที่ศีรษะ จากผลสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ในปี 2557 พบว่าอัตราการใช้หมวกนิรภัยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ร้อยละ 43 ผู้ขับขี่ที่สวมหมวกร้อยละ 51 ผู้โดยสารร้อยละ 19 กรุงเทพสวมมกที่สุดร้อยละ 80 ในเขตนอกเมืองสวมเฉลี่ยร้อยละ 46 เหตุผลสำคัญ 3 ลำดับที่ไม่สวม มีดังนี้ ร้อยละ 64 บอกว่าเดินทางในระยะใกล้ ร้อยละ 37 บอกว่าไม่ได้ออกถนนใหญ่ และร้อยละ 29 บอกว่าเร่งรีบ ค่ารักษาผู้บาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในปี 2554 รวม 1,824 ล้านบาทเศษ พบสูงสุดในผู้ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพ รวม 1,086 ล้านบาทเศษ รองลงมาคือผู้ใช้สิทธิประกันสังคม 680 ล้านบาทเศษ และผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการราชการ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง 3 กองทุน