ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.รัชตะ-นพ.สมศักดิ์-นพ.ณรงค์ แถลงผลงานในรอบ 3 เดือน กระจายโอกาสประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงบริการง่าย รวดเร็วขึ้น ระบบการป้องกันโรคอีโบลาเข้าประเทศได้ผลดีขยายผลต่อเนื่องปีหน้าเชื่อมโยงอาเซียนบวกสาม สร้างกระทรวงสีขาว เตรียมประกาศใช้กฎหมายใหม่ 27 ฉบับ อาทิ ควบคุมนมผง-อาหารเสริมเด็ก เหล้า บุหรี่ ควบคุมโรคติดต่อ เป็นต้น คาดมีผลบังคับใช้ 2558

วันนี้ (26 ธันวาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมกันเปิดมหกรรมการแสดงผลงานรอบ 3 เดือน กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานในการจัดบริการด้านสาธารณสุข รอบ 3 เดือน (12 กันยายน - 12 ธันวาคม 2557) ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและจำเป็น โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวง 10 เรื่อง และแปลงไปสู่การปฏิบัติเป็นกิจกรรม/โครงการไม่ต่ำกว่า 50 โครงการย่อย มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในรอบ 3 เดือน ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบบริการ 2.การควบคุมป้องกันโรค 3.สร้างความโปร่งใสขององค์กร และ4.การออกกฎหมายสำคัญเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานสาธารณสุข

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบบริการ ได้ให้หน่วยงานทุกระดับเร่งพัฒนาระบบให้ประชาชนได้รับบริการที่ใกล้บ้าน สะดวกและรวดเร็วขึ้น ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ให้ความสำคัญกับโครงการในพระราชดำริและเฉลิมพระเกียรติฯ เช่น 1.โครงการคัดกรองและผ่าตัดตาต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคัดกรองผู้สูงอายุถึงชุมชนเพื่อค้นหาผู้สูงอายุที่สายตาพร่ามัวจากต้อกระจกใกล้บอด ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 60,000 คนและผู้ที่สายตาพร่ามัวอีก 200,000 ราย ขณะนี้ ผ่าตัดผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว 728 ราย และจะผ่าตัดใน 74 จังหวัดที่เหลือ คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2558 จะผ่าตัดได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย 2.โครงการฟันเทียมพระราชทาน ใส่ฟันเทียมแก่ประชาชนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่สูญเสียฟันตั้งแต่ 16 ซี่ขึ้นไปในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งรวม 900 แห่ง เป้าหมายตลอดปี 84,000 คน ได้รับฟันเทียมแล้วเกือบ 20,000 ราย 3.โครงการฝังรากฟันเทียมพระราชทานที่โรงพยาบาลสังกัดภาครัฐ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 200 แห่ง เป็นนวัตกรรมใหม่ของคนไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามรากฟันเทียม ว่า “ข้าวอร่อย” มีเป้าหมาย 5,000 คน ขณะนี้ได้รับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมแล้ว 806 คน

4.โครงการพัฒนาสุขศาลาพระราชทานในโรงเรียนตำรวจชายแดน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร  ห่างไกลความเจริญ การเดินทางยากลำบาก ต้องเดินเท้า โดยร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และภาคส่วนอื่นๆ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 16 แห่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ยะลา และนราธิวาส  โดยอบรมตำรวจตระเวนชายแดนให้สามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้น และพัฒนาคุณภาพเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลชุมชน ในการปรึกษารักษาผ่านระบบการสื่อสารทางไกล 5.โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและคอตีบ แก่ประชาชนอายุ 20-50 ปีทั่วประเทศ 28 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนที่ประเทศไทยเริ่มแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กระดับชาติ ใน พ.ศ. 2520 จึงยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้ อีกทั้งประชาชนประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการระบาดของโรคนี้เดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดในไทยได้ โดยขณะนี้ฉีดครบแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะครอบคลุมทุกจังหวัดในกันยายน 2558 เพื่อเร่งรัดให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทย

6.พัฒนาระบบบริการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งพบผู้ป่วยปีละ 281,221 คน เสียชีวิต 54,000 คน ขณะนี้ มีโรงพยาบาลที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 460 แห่งหรือร้อยละ 58 ของโรงพยาบาลทั้งหมด ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงจากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 12 และลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดหัวใจจากเดิมประมาณ 9 เดือน เหลือเฉลี่ย 4 เดือน จะขยายให้ได้ร้อยละ 90 ในภายในสิ้นปี 2558 นี้ 7.พัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้ตั้งหน่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 42 แห่ง และมีโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป/ชุมชน ที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 137 แห่ง โดยจัดช่องทางด่วนและระบบการส่งต่อที่รวดเร็วจากบ้านถึงโรงพยาบาล ซึ่งช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ โดยโรคนี้มีผู้ป่วยปีละ 237,039 คน เสียชีวิต 23,350 คน หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยให้หายจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้

และ8.การพัฒนาความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิ ดำเนินการเต็มพื้นที่ทุกอำเภอ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ลดจำนวนผู้เจ็บป่วย เพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยจัดทีมหมอครอบครัวเป็นทัพหน้าลงพื้นที่ดูแลเยี่ยมบ้านทุกครัวเรือนที่มี 22 ล้านครัวเรือน ให้บริการเสมือนญาติ ในรอบ 3 เดือนนี้ นำร่องดำเนินการ 250 อำเภอใน 77 จังหวัด รวม 30,000 ทีม ให้การดูแลทั้งคนปกติ และ 3 กลุ่มที่อยู่บ้านต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดต่อเนื่องระหว่างบ้านและโรงพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ที่มีจำนวน 1,036,937 คน ทำให้ครอบครัวและชุมชนมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น   

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านการป้องกันควบคุมโรค เช่น 1.โรคอีโบลา ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ประเทศไทยได้แสดงบทบาทผู้นำในการควบคุมป้องกันโรคในภูมิภาคอาเซียน และ 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งได้จัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 วาระพิเศษ ภายใต้การยกย่องขององค์การอนามัยโลก โดยมีระบบการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดทุกช่องทาง และความพร้อมของโรงพยาบาลหากมีผู้ป่วยเดินทางเข้าประเทศ ทั้งด้านการดูแลรักษา และห้องปฏิบัติการ มั่นใจว่าสามารถรับมือได้ โดยผลการคัดกรองผู้เดินทาง 3,588 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา 2.เปลี่ยนระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 โดยให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีที่วินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานลดลง ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้นและช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้รับยาต้านไวรัสแล้ว 3,631 คน  โดยซึ่งขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาต้านไวรัสเรียบร้อยแล้ว มียาต้านไวรัสเพียงพอให้การรักษาผู้ติดเชื้อทุกราย และเร่งดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ที่รังสิต จ.ปทุมธานี จะแล้วเสร็จกลางปี 2558 และโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตำบลทับกวาง จ.สระบุรี  จะเริ่มผลิตวัคซีนได้ต้นปี 2561      

ด้านการสร้างความโปร่งใสขององค์กร ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ 1.ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ วัสดุการแพทย์ วัสดุทันตกรรม วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์และวัสดุเอกซเรย์ เป็นแนวทางการปฏิบัติงานทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งบประมาณ และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 2.ประกาศเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการจัดซื้อจัดหาและส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของบริษัทยาและวัสดุทางการแพทย์ที่ขาดจริยธรรม เช่น การให้บุคลากรสาธารณสุขไปศึกษาดูงานต่างประเทศ และผลประโยชน์ทับซ้อนรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลตามมา และผิดกฎหมายการปราบปรามทุจริตมาตรา 130 ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผลประโยชน์ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท 3.สร้างเครือข่ายสอดส่องเฝ้าระวังปัญหาทุจริต โดยใช้อาสาสมัครสาธารณสุข 87,600 คน พยาบาล และชมรมสาธารณสุข 52 ชมรม และ4.สนับสนุนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ให้บริการด้วยใจ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ผู้รับบริการมีความสุข

ด้านการออกกฎหมาย ในรอบ 3 เดือนนี้ ได้จัดทำร่างกฎหมายใหม่รวม 9 ฉบับ คาดประกาศใช้ในปี 2558 อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 1 ฉบับ ใช้แทนกฎหมายเดิม 2 ฉบับที่ใช้มา 22 ปี ให้ทันสมัยและทันกลยุทธ์การตลาดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ 2.ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกันนาน 6 เดือน ซึ่งผ่านการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนร้อยละ 87 พึงพอใจในระดับดีถึงดีมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าครม.

กฎหมายลูกตาม พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ การกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟ ในสถานีขนส่ง ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ บนทางสาธารณะที่ใช้สัญจร สถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลใช้สอยของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 5 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา และประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บังคับไม่ให้ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เกินจริง หรือเป็นเท็จก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสินค้า กฎหมายเหล่านี้ จะช่วยลดผลกระทบทางสังคม อาชญากรรม สุขภาพและอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่นๆ เช่นพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฉบับใหม่ รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2558

ทั้งนี้ นโยบายกระทรวงสาธารณสุข 10 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์  2.พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยมีการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบที่ยั่งยืน 3.สร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิต 4.สร้างเสริมความเข้มแข็งของกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่ทำงานข้ามภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน 5.พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพ  6.พัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 7.จัดการโรคติดต่อและภัยคุกคามด้านสุขภาพ 8.สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพโลก 9.สนับสนุนการวิจัยสุขภาพอย่างครบวงจร และ10.พัฒนาส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล ในกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรด้านสุขภาพของรัฐ