ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : "จน เครียด กินเหล้า.." "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง..." "คุณมาทำร้ายฉันทำไม..."

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคข้างต้น เพราะล้วนเป็นสปอตโฆษณาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ออกแคมเปญหวังลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ทั้งการให้ของขวัญกระเช้าปีใหม่ที่งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการแสดงให้เห็นถึงการสูบบุหรี่ ที่ส่งผลกระทบกับคนรอบข้างที่ไม่สูบ...

ทั้งหมดแม้จะเป็นการรณรงค์ที่สร้างกระแสในช่วงที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันก็เกิดคำถามในสังคมว่า การทำงานของ สสส.ในเรื่องการรณรงค์และการเดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค มีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน ยิ่งการสนับสนุนภาคีเครือข่าย องค์กรต่างๆ งบประมาณจากภาษีบาป ทั้งเหล้าและบุหรี่ราว 4,000 ล้านบาท จัดสรรอย่างไร

เพราะก่อนหน้านี้ทางโรงงานยาสูบออกมาเสนอให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรับเปลี่ยนแนวทางการให้เงินอุดหนุน สสส.และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศ (ไทยพีบีเอส) เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนจากโรงงานยาสูบปีละ 1,600 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็เสนอของบอีก ซึ่งงบประมาณมากมายเช่นนี้ เสนอส่งงบไปยังกระทรวงการคลังเพื่อทำหน้าที่จัดสรรแทน ขณะที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ก็เห็นด้วย เพราะมองว่า สสส. ก่อตั้งมากว่า 10 ปี มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองในการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ ซึ่งแทบไม่ทราบการทำงานภายในเลย อีกทั้งประเด็นการอนุมัติโครงการให้ภาคีเครือข่ายก็ถูกมองว่า ผู้ที่รับทุนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มเดิม

แม้เรื่องนี้ผู้บริหาร สสส.จะออกมาชี้แจงอย่างละเอียด แต่ดูเหมือนคำถามดังกล่าวยังพบเห็นทุกปี

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ 

ล่าสุดมีโอกาสพูดคุยกับ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงคำถามเหล่านี้

"หลายคนรู้จักเราเพราะการรณรงค์ การออกแคมเปญโฆษณาต่างๆ แต่จริงๆ สสส.ใช้งบตรงนี้เพียง 7% เท่านั้น อาจเพราะเรารณรงค์ได้ผล ขณะที่ใช้เงินส่วนนี้แค่ปีละ 200 กว่าล้านบาท คนไม่รู้ก็เข้าใจผิด เพราะหากพิจารณาดีๆ งบดังกล่าวไม่เคยติด 10 อันดับของงบโฆษณาเลย ทั้งๆที่ สสส.มีงานมากกว่าที่หลายคนทราบ โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ กว่า 7 พันแห่งทั่วประเทศ แต่ตรงนี้เราไม่เคยประกาศ คนจึงไม่รู้และเข้าใจผิด" ทพ.กฤษดากล่าว

สำหรับงบประมาณของ สสส. เมื่อเทียบเป็นเม็ดเงิน ปีที่ผ่านมาอัตราภาษีบุหรี่ลดลง 100 ล้าน ภาษีเหล้าเพิ่ม 200 ล้าน หักลบเพิ่ม 100 ล้าน แต่อย่าลืมว่าประชากรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน หนำซ้ำปี 2557 สสส.ยังได้รับงบประมาณน้อยกว่าหน่วยงานอื่นๆ เช่น สสส.น้อยกว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 3.75% และยังน้อยกว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2.58% ทั้งๆ ที่การสร้างเสริมและป้องกันโรคเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเห็นชัดว่างบไปทุ่มที่การรักษามากกว่า แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับเป็นซ่อมนำสร้าง

ส่วนคำถามถึงงบประมาณราว 4,000 ล้านบาทนั้น สสส.ไม่ได้ทำแค่การโฆษณาหรือจัดกิจกรรมรณรงค์เท่านั้น แต่แบ่งเป็น 1.งบปัจจัยเสี่ยงหลัก พวกเหล้า บุหรี่ ปัญหาเด็กสตรี การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ร้อยละ 34 2.งบสื่อสารและการเรียนรู้ ร้อยละ 13 3.งบชุมชน ร้อยละ 12 4.งบเด็ก เยาวชน และประชากรเฉพาะ เช่น คนพิการ กลุ่มชายแดนชายขอบ ร้อยละ 11 5.งบองค์กรและกลไก ร้อยละ 10 6.งบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การคุ้มครอง ผู้บริโภค เป็นต้น ร้อยละ 8 7.งบส่งเสริมโอกาสและนวัตกรรม ร้อยละ 6 และ 8.งบบริหารจัดการ ร้อยละ 5 ส่วนงบประชาสัมพันธ์ในการจัดแคมเปญ การประชาสัมพันธ์ โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ มีเพียงร้อยละ 7 จากงบสื่อสารและการเรียนรู้เท่านั้น

ขณะที่การให้ทุนสนับสนุนภาคีเครือข่าย ในการดำเนินการโครงการต่างๆ นั้น ทพ.กฤษดา บอกว่า หลายคนเข้าใจผิดว่า สสส.ให้ทุนกับกลุ่มเดิมๆ ซึ่งไม่ใช่ เราให้ทุนกับภาคีรายใหม่ถึง 80% ขณะที่รายเก่า 20% ที่สำคัญเรามีระบบการประเมิน ตรวจสอบการดำเนินโครงการตลอด อย่างโครงการที่สนับสนุนทั้งหมด มีกว่า 3,000 โครงการ ก็มีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบทุก 3 เดือน และเงินก็ไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่ให้ตามผลงาน หากประเมินพบว่าผลงานไม่ก้าวหน้าก็หยุดสนับสนุนทันที ซึ่งผลงานที่ไม่ประสบความสำเร็จน้อยมาก ไม่ถึง 10% ต่อปี

ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ จึงไม่แปลกที่จะถูกจับตามอง แต่การสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่เพราะผลลัพธ์ออกมาในวงกว้าง แต่จากนี้ไปจะเปิดโอกาสให้กับประชาชนรายใหม่ในการทำโครงการขนาดเล็ก วงเงินสนับสนุน 1-2 หมื่นบาท เรียกว่า Nano Projects ซึ่งจะเป็นภาคีรายใหม่อย่างน้อย 4,000 รายใน 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้กว้างขึ้น เพื่อพัฒนางานสุขภาพมากขึ้น

เมื่อมีการสนับสนุนโครงการมากขึ้น กลไกในการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร ทพ.กฤษดาตอบว่า จะกระจายอำนาจให้ภาคประชาชนตรวจสอบ โดยเดิมโครงการ สสส.มากกว่า 5 แสนบาททุกโครงการจะมีระบบควบคุมคอยมอนิเตอร์ โดยจะมีผู้ตรวจสอบบัญชีคอยตรวจสอบ ซึ่งทุกวันนี้ก็มี โดยจะมีทีมเข้าไปตรวจสอบ แต่โครงการเล็กๆ จะมีสัญญาทำกันว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไรบ้าง และใช้ภาคประชาชนที่เป็นเครือข่ายคอยตรวจสอบ โดยจะมีหลายส่วนเพื่อลดปัญหาการฮั้วกัน

"จริงๆ ในเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใสการบริหารงานของ สสส. มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คอยตรวจสอบอยู่ และทุกปีเราต้องทำรายงานเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร โดยมีปีหนึ่งเราเคยโดนถามถึง 8 ชั่วโมง มีทั้ง ส.ส. ส.ว.คอยซักถาม และเคยถูกคณะกรรมาธิการพิเศษมาตรวจสอบอีก แต่เราตอบคำถามได้หมด แต่ที่สำคัญหัวใจในการตรวจสอบคือประชาชนและสื่อมวลชน เพราะเมื่อไรมีการเมือง สสส.จะถูกแทรกแซงได้มาก จึงต้องขอให้สื่อมวลชนช่วยดู สสส.ให้ละเอียด ยิ่งดูมากก็ป้องกันเรามาก" ทพ.กฤษดากล่าวไม่เพียงเท่านั้น แม้จะมีคำถามว่า สสส.มีกฎหมายเฉพาะ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 แต่โครงสร้างมีระบบตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส โดยมีคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายในขึ้น ที่มี นายวิเชียร พงศธร เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการภายในของ สสส.

"เพื่อความโปร่งใสมากขึ้น ในปี 2558 สสส.จะเป็นต้นแบบองค์กรโปร่งใส โดยจะมีการประยุกต์ใช้ Open Government ในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ ข้อมูลการสนับสนุนโครงการต่างๆ สู่สาธารณชน คาดว่า 3 เดือนจะแล้วเสร็จ โดยประชาชนสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ (http://www.thaihealth.or.th/) สสส.ได้" ทพ.กฤษดากล่าวทิ้งท้าย

คงต้องติดตามกันว่าสุดท้าย สสส.จะเป็นต้นแบบองค์กรโปร่งใส ลบคำถามมากมายในสังคมได้จริงหรือไม่....

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 มกราคม 2558