ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ชมรมแพทย์ชนบทเชื่อ รพช.หลายแห่งไม่ทำตามคำสั่ง สป.สธ.ที่ให้ยกเลิกขึ้นทะเบียนบัตรทอง เผย รพ.ชุมแพ และ รพ.สิชล ไม่ทำตามคำสั่งแน่นอน เหตุขัดหลักการดูแลประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แจงกรณียื่นคสช.สั่งย้าย ปลัดสธ. ทำในทางลับ ในฐานะประชาชน เผยคนที่ควรต้องชี้แจงคือ ปลัดสธ. ด้านหมออารักษ์ชี้ สป.สธ.กดดันสปสช.ทุกวิถีทาง เผยข้อเสนอจัดงบใหม่แบบสป.สธ. จะทำให้รพ.ได้รับเงินน้อยลง ขณะที่ชมรม นพ.สสจ.หนุนปรับวิธีจ่ายแบบเขตสุขภาพ ยันไม่ได้กดดันสปสช.

นสพ.มติชน : กรณีความขัดแย้งระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทองที่ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก สป.สธ.เสนอให้จัดสรรตามเขตสุขภาพ หรือกลุ่มจังหวัด ขณะที่ สปสช.ต้องการจัดสรรรูปแบบเดิมตามหน่วยบริการ กระทั่งล่าสุดเกิดประเด็นคำสั่งของ สป.สธ.ให้ยุติบทบาทการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง จนเครือข่ายผู้ป่วยชมรมแพทย์ชนบทออกมาโจมตีว่าเอาประชาชนเป็นตัวประกันนั้น

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง ทำได้ที่หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลต่างๆ และการขึ้นทะเบียนราษฎร ที่ว่าการอำเภอ แต่สะดวกสุดคือโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด กลุ่มสิทธิว่างหรือไม่รู้ว่าตัวเองอยู่สิทธิรักษาไหน ตรงนี้จะมีผู้ประกันตนอยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่ลาออกก็จะกลายเป็นสิทธิว่าง หากไม่ไปแจ้ง ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ไม่แจ้งสิทธิว่าง เพื่อรอเข้าบัตรทอง แต่จะไปโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อเจ็บป่วย โรงพยาบาลจะมีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว ทำให้สามารถเข้ารักษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หาก สป.สธ.ยืนยันข้อเสนอนี้ย่อมส่งผลกระทบ คนจะเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง

"หากดำเนินการตามหนังสือของ สป.สธ. เชื่อว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จะไม่ยอม ที่แน่ๆ โรงพยาบาลที่ผมอยู่คือ รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จะไม่ทำตามแน่นอน เพราะขัดหลักการดูแลประชาชน อะไรที่ประชาชนเสียผลประโยชน์ เราไม่ทำ" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ขอนแก่น ให้ทำหนังสือชี้แจงต่อ สสจ. เรื่องการร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้ย้าย นพ.ณรงค์ออกจากปลัด สธ. ถือเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ควรให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ไปร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล จริงๆ การร้องเรียนดังกล่าวต้องเป็นความลับ และไปในฐานะประชาชน

"ดังนั้น คนที่ต้องชี้แจงไม่ใช่ผม แต่ควรเป็นคนที่ถูกร้องเรียนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ปลัด สธ.กำลังเอาเรื่องส่วนตัวไปทำร้ายประชาชน ไม่สมควรอย่างยิ่ง" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ กรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ที่ผ่านมา สป.สธ.พยายามกดดัน สปสช.ทุกวิถีทาง ตั้งแต่ให้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวแบบใหม่ ส่งผลกระทบไปทั่ว ยิ่ง รพ.ประสบปัญหาขาดทุน ยิ่งเป็นปัญหาหนัก เพราะการให้ไปจัดสรรผ่านเขตสุขภาพ และหักเงินเดือนของข้าราชการ สป.สธ.ในระดับเขตยิ่งเป็นปัญหา เพราะจะทำให้ รพ.ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมาเงินเดือนของข้าราชการ และเงินเหมาจ่ายรายหัวจะรวมกัน และมาหักกันที่ระดับพื้นที่ แต่ข้อเสนอ สป.สธ.ต้องการหักที่เขตสุขภาพ เป็นภาพใหญ่ และจะกระทบต่อเงินที่จะมาถึงโรงพยาบาลแน่นอน

"เห็นได้ว่าข้อเสนอของ สป.สธ.ไม่ส่งผลดีต่อโรงพยาบาลที่สำคัญยังมีข้อเสนออื่นๆ ออกมาไม่หยุด อย่างการยุติการขึ้นทะเบียนบัตรทอง ยิ่งไม่สมควร เพราะสุดท้ายประชาชนจะได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สะดวก ไม่ได้สิทธิ ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ดังนั้น สำหรับ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ก็จะไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่ส่งผลดีต่อประชาชนเช่นกัน และเชื่อว่าโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งก็จะไม่ทำตามด้วย ปัจจุบันมีอยู่กว่า 750 แห่งทั่วประเทศ" นพ.อารักษ์กล่าว

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมนายแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป พร้อมด้วย นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และตัวแทน ผอ.รพท./รพท. รวมทั้งสมาคมหมออนามัย ฯลฯ ร่วมแถลงข่าวที่โรงแรมเซ็นทรา ยืนยันขอให้ สปสช.ปรับวิธีการจัดสรรงบเหมาจ่ายแบบเขตสุขภาพ และยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง เพราะประชาชนคนไทยมีสิทธิอัตโนมัติอยู่แล้ว

นพ.สุรพรแถลงว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมติบอร์ด สปสช.ยกเลิกให้ นพ.สสจ.เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ดังนั้น การทำหน้าที่นายทะเบียนก็ต้องให้ สปสช.เขตเป็นผู้รับผิดชอบ การทำหน้าที่นายทะเบียนบัตรทองนั้น ตามภารกิจแล้วเป็นหน้าที่ของ สปสช.ในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการแทนประชาชนอยู่แล้ว

นพ.สุทัศน์แถลงว่า 12 ปีที่ผ่านมา สธ. ดำเนินการแทน สปสช.เพื่อประโยชน์ประชาชน และขณะนี้ประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดมีหลักประกันสุขภาพแล้ว จะมีเพียงเด็กเกิดใหม่ หรือผู้เปลี่ยนแปลงสิทธิ ปกติเมื่อเกิดก็จะแจ้งเกิดไปที่ทะเบียนราษฎร ในระบบจะมีการแจ้งสิทธิออนไลน์ ทุกคนก็จะมีสิทธิบัตรทอง ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าจะให้ข่าวเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะอะไร ที่สำคัญยังระบุว่า สป.สธ.ไปกดดัน สปสช.ยิ่งไม่ถูกต้อง

ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงข้อร้องเรียนเครือข่ายประชาชนเรื่องการยกเลิกขึ้นทะเบียนบัตรทองว่า ยังไม่ทราบเรื่อง

ที่มา จากข่าว “ยื่นจี้ 'รมว.สธ.' เลิกขึ้น 'บัตรทอง' ที่รพ.”  นสพ.มติชน วันที่ 4 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)