ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วชิระ เปิดข้อเสนอตั้ง คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือกสช. คุมนโยบายสุขภาพระดับประเทศ ยันไม่ซ้ำซ้อนกับบอร์ดสช. แจงเหตุไทยมีบอร์ดสุขภาพหลายส่วน ไม่มีการบูรณาการกัน จึงต้องมีผู้กำกับและกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพชาติทำหน้าที่คล้าย คกก.นโยบายพลังงานชาติ ที่กำกับด้านพลังงาน ชี้หลังตั้ง กสช. สธ.ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเท่านั้น ส่วนบทบาทผู้ให้บริการมอบเขตสุขภาพทำแทน องค์ประกอบ กสช. ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.สธ.เป็นรองประธาน ปลัดสธ.เป็นผอ.สนง.กสช. และเลขานุการกสช.

หากมองย้อนหลังในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้เกิดองค์กรต่างๆ ด้านสุขภาพขึ้นมากมาย เริ่มจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สพร.) ล้วนเป็นหน่วยงานที่แยกอิสระออกจากกระทรวงสาธารณสุข ด้านหนึ่งถูกมองว่า องค์กรเหล่านี้นำมาสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่า ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในระบบ ซึ่งเป็นความเห็นต่างที่เกิดขึ้นเรื่อยมา

นอกจากองค์กรด้านสุขภาพข้างต้นแล้ว ในระหว่างนี้ยังมีแนวคิดจัดตั้งองค์กรใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” (สวส.) ที่เป็นการยกระดับการทำงานของ สวรส.เพื่อให้ครอบคลุมการวิจัยสุขภาพทั้งประเทศ และ “สำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.)” เพื่อดูแลมาตรฐานการเบิกจ่ายกองทุนรักษาพยาบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลในทุกระบบ

ทั้งนี้เมื่อมองภาพรวมองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ล้วนถูกจัดอยู่คนละฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแยกบทบาทและภารกิจออกจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นการแยกงบประมาณและอำนาจการบริหาร

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจึงมีข้อเสนอ “การปฏิรูประบบสาธารณสุข” ในฝั่งของสธ.ขึ้นบ้าง เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนหน่วยงานระบบสุขภาพทั้งหมด ซึ่งจากการนำเสนอของ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในเวทีสัมมนา “ปฎิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ได้แบ่งการปฏิรูประบบสาธารณสุข เป็น 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากลไกการสร้างเอกภาพในการกำหนดนโยบายสาธารณสุขของประเทศ, ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ, ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และสร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล

จากการไล่เรียงความจำเป็นของการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งนี้ นพ.วชิระ ระบุว่า มาจากสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งที่พบมากขึ้น, โรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ที่คุกคามเป็นระยะ, รายจ่ายด้านสุขภาพที่แพงมากขึ้น รายจ่ายที่เพิ่มเร็วกว่ารายได้, สถานะสุขภาพยังเป็นปัญหาทุกกลุ่มวัย, ระบบบริการสุขภาพดีแต่ยังมีช่องว่าง, การเข้าถึงบริการสุขภาพดีขึ้นแต่ยังเหลื่อมล้ำ, สถานบริการสุขภาพส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐและสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

การใช้บริการสุขภาพของประชาชนมีสัญญาณที่ดี ประชาชนใช้บริการใกล้บ้านมากขึ้น แต่ยังห่วงเรื่องคุณภาพบริการ, การส่งต่อมีทั้งไม่ยอมทำเองและปฏิเสธการรับ, งบประมาณเพิ่มในภาพรวมดูเหมือนพอ แต่โรงพยาบาลนับร้อยยังขาดทุน, การกระจายอำนาจยังไปไม่ถึงไหน, เกิดผู้เล่นใหม่ในระบบสุขภาพที่ต่างคนต่างเล่น (หน่วยงานตระกูล ส.) และการอภิบาลระบบบิดเบี้ยว ถูกแทรกแซงจากอำนาจไม่ชอบธรรม ซึ่งได้มีการเดินหน้าไปบางส่วนแล้ว

อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุขในครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอการปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการเป็น “องค์กรหลักในการดูแลงานด้านสุขภาพของประเทศ หรือ National Health Authority : NHA ที่เป็นบทบาทใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่กำกับนโยบายและยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของการใช้ความรู้ โดยนโยบายบางส่วนจะเป็นการออกแบบระบบเพื่อให้กลไกและภาคีต่างๆ มีบทบาทเหมาสมในระบบสุขภาพ ลดความซ้ำซ้อน และมีการตรวจสอบกันและกันอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดระบบที่มีธรรมาภิบาล

โดยบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ National Health Authority นพ.วชิระ กล่าวว่า จะดำเนินงานภายใต้ภารกิจ 11 เรื่อง ดังนี้ คือ 1.การกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์กลางของประเทศบนข้อมูลและฐานความรู้ 2.การสร้างและจัดการความรู้ด้านสุขภาพ 3.การประเมินนโยบายและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.การกำหนดมาตรฐานบริการต่างๆ 5.การพัฒนาระบบกลไกการเฝ้าระวังโรค ภัยสุขภาพ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน 6.การพัฒนากลไกด้านกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาและดูแลสุขภาพประชาชน

7.การพัฒนางานสุขภาพโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศ 8.การกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน 9.การให้ข้อคิดเห็นต่อระบบกาเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ 10.การพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้เป็นระบบเดียวที่มีคุณภาพใช้งานได้ และ 11.การกำหนดนโยบายและจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ

นพ.วชิระ กล่าวว่า การดำเนินงาน National Health Authority จะเป็นไปในรูปแบบของ “คณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ” หรือ “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (กสช.)”  (National Health Directing Board : NHDB) โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ และมีคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อดำเนินงานตามบทบาท National Health Authority ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นไปตาม 6 Building blocks ขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ, คณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ, คณะอนุกรรมการพัฒนาข้อมูลข่าวสารสุขภาพ, คณะอนุกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และยา และคณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจการคลังสุขภาพ เป็นต้น

สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (กสช.) ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะมาจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งหมด นอกจากนี้ยังกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงาน กสช. เพื่อที่จะไม่ต้องสร้างคนใหม่และเป็นเลขานุการคณะกรรมการ กสช.

“ในระบบสาธารณสุขปัจจุบันมีผู้เล่นเยอะมาก หากไม่มีผู้กำกับและกำหนดทิศทางนโยบายคงไปไม่รอด จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง กสช.ขึ้น เพื่อทำหน้าที่นี้ เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำกับด้านพลังงาน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำกับด้านทรัพยากรธรรมชาติ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำกับด้านการจราจรและการขนส่งสาธารณะ และสำนักนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ที่กำกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น แต่ยังไม่มีคณะกรรมการที่กำหนดทิศทางนโยบายสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้มีมานานแล้ว และเป็นบทสังเคราะห์ข้อเสนอบทบาทกระทรวงสาธารณสุขในศตวรรษที่ 21 ยืนยันว่าไม่ใช่การปฏิรวบแน่นนอน” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวและว่า ทั้งนี้ภายหลังการจัดตั้ง กสช. กระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายเท่านั้น ส่วนบทบาทผู้ให้บริการจะมอบให้เขตบริการสุขภาพทำหน้าที่แทน

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจัดตั้ง กสช. นี้ เป็นคนละส่วนกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีบทบาทการดำเนินงานที่ไม่ซ้ำกัน เนื่องจาก สช. ทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษานโยบายสุขภาพ ดำเนินการจากมติสมัชชาสุขภาพ แต่ กสช.ดำเนินการในฐานะหน่วยงานคุณภาพ เป็นหน่วยงานหลักด้านสุขภาพ ซึ่งจะดูแลหน่วยงานในกำกับไปจนถึงระดับชุมชน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

แม้ว่าข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขนี้จะมีหลักการและเหตุผลที่ดี แต่ด้วยกระแสความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นที่ต่างมีความเห็นต่าง การจัดตั้ง กสช. คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก...ที่สำคัญ ข้อเสนอตามแนวทางนี้ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ เมื่อครั้งยังมีรมว.สธ.ที่ชื่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เคยมีการนำข้อเสนอนี้เข้าสู่การประชุมที่มี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธานการประชุม แต่ นส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าอาจจะซับซ้อนกับบอร์ดสุขภาพอื่นๆ  และอาจจะมีปัญหาในข้อกฎหมายได้