ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดระยะ 29 ปีที่ผ่านมาของนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ วิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.) ทำให้เขารู้ว่า การไม่ได้สัญชาติไทยของชนเผ่าต่างๆ ที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีความยากลำบากแค่ไหน คือความไม่ยุติธรรมของสังคมที่หยิบยื่นให้พวกเขาแบบที่พวกเขาไม่ต้องการ

วิวัฒน์ ตามี่

วิวัฒน์ เป็นชนเผ่าลีซู(ลีซอ) เกิดที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โชคดีที่ พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนมีสัญชาติไทย จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดและโดยหลักดินแดนตามกฎหมาย จึงไม่มีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล แต่พบว่ามีชนเผ่าต่างๆ อีกจำนวนมากที่มีสถานะเป็นคนไทยโดยการเกิดและโดยหลักดินแดน แต่กลับไม่ได้สัญชาติไทยเพียงแค่ตกสำรวจทางทะเบียน ส่งผลกระทบต่อพวกเขาเหล่านั้นถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ เช่นถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคาม ถูกจับกุมรีดไถภายใต้สารพัดข้อกล่าวหา ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข(การรักษาพยาบาล) การศึกษา การพัฒนา ถูกจำกัดการเดินทางหรือถูกควบคุมจำกัดพื้นที่เหมือนนักโทษ 

“ปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาติไทย จึงทำให้ผมรู้สึกว่า นี่คือความไม่ยุติธรรม”   

วิวัฒน์ ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการมาทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของคนชนเผ่าพื้นเมืองว่า เริ่มต้นทำงานในปี 2529 ที่ สถาบันวิจัยและการพัฒนา มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ ในตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนักวิจัยภาคสนามเก็บข้อมูลในพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย เชียงรายและตำบลน้ำลาง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน 3 ปี ต่อมาได้เข้าไปทำงานเป็นผู้ประสานงานโครงการการศึกษาของเยาวชนชนเผ่า สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทย ภูเขาในประเทศไทย(ศวท./IMPECT) และระหว่างปี 2538-2540 หันไปทำโครงการให้การศึกษาและการป้องกันเรื่องโรคเอดส์ (HIV/AIDs)ในชุมชนลีซู 3 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน พบว่าประเด็นปัญหาหลักๆ ที่ชนกลุ่มน้อยและชนเผ่าต่างๆ กำลังเผชิญอยู่คือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องปัญหาที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากร ปัญหาไร้สัญชาติและเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้หันมาสนใจทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เรียกร้องสิทธิอย่างจริงจัง

และในปี 2541 ได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย และชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิด้านสถานะบุคคลร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.) สมัชชาคนจน แต่ก็เป็นไปแบบล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงและป่าไม้มีความเข้มงวดเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายในการจับกุม และการปราบปราม จนบางปีชนเผ่าจำนวนมากถูกจับกุมข้อหาบุกรุกป่า หมู่บ้านชนเผ่าถูกอพยพ เลยจะต้องหันหาทำแต่คดีร่วมกับสภาทนายความ ทำหนังสือเรียกร้องสิทธิต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ร่วมติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิและการเขียนรายงานการละเมิดสิทธิเสนอรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหา      

ตั้งแต่ในปี 2547เป็นต้นมา เริ่มทำงานขยายความร่วมมือเพื่อการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชียที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย มีการทำรายงานคู่ขนาน(Shadow Report) หลายฉบับนำเสนอองค์การสหประชาชาติ(UN) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil, and Political Rights) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(CERD) เป็นต้น พบว่ามีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านสัญชาติรัฐบาลไทยยอมปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของ UN ทำให้ตนเห็นประโยชน์การทำงานแบบเชื่อมโยงหลายระดับ คือการทำงานระดับท้องถิ่น(ชุมชน)เชื่อมระดับภาค ระดับภาคเชื่อมประเทศและระดับประเทศเชื่อมสากลส่งผลต่องานขับเคลื่อนเชิงนโยบายมีประสิทธิผล    

สำหรับในประเทศไทยเรา มีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยก่อตั้งปี 2550 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 37 ชนเผ่าใน 4 ภาคของประเทศ ประเด็นร่วมหลักๆ ยังเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละด้าน บทบาทการทำงานในวันนี้ของวิวัฒน์ คือ ทำหน้าที่รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนของชนเผ่าในประเด็นต่างๆ ประสานสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆทั้งที่เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิ มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำและเครือข่ายเพื่อให้มาร่วมขับเคลื่อนปัญหา โดยมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ในแต่ละประเด็นให้ความร่วมมือในการทำงาน

“ตอนนี้ยังมีคนไทยที่รอการพิสูจน์สถานะบุคคลจำนวนกว่า 6.8 แสนคน และในจำนวนนี้ กว่า 208,631 คน ที่ตกหล่นจากกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 และไม่มีหลักเกณฑ์การพิสูจน์สถานะบุคคล ทำให้ยิ่งไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาสิทธิ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กนักเรียนไร้สัญชาติที่ตกสำรวจจากทะเบียนและไม่ได้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่กระทรวงศึกษากำหนดเลขรหัส G ไว้ในทะเบียนโรงเรียน จำนวนกว่า 6.5 หมื่นคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ และรอรับการสำรวจทางทะเบียนใหม่

สาเหตุปัญหาที่ยังไม่มีสัญชาติและสถานะบุคคล เกิดจากสาเหตุหลักๆ ต่อไปนี้ ตกสำรวจจากทางทะเบียน  ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมการคลอดลูกด้วยตนเองและไม่ได้แจ้งเกิดกับนายทะเบียน ส่วนผู้ที่คลอดในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด ปัญหาเกิดจากหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะบุคคลตามมติครม.7 ธันวาคม 2553 ที่จำกัดสิทธิและไม่ครอบคลุมกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0(89) ขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์และการอนุมัติยาวนาน โดยเฉพาะการพิสูจน์ขอสถานะต่างด้าวถาวร ตาม ม.17 พ.รบ.คนเข้าเมือง ปี พ.ศ.2522 และการอนุมัติสัญชาติตามม.7 ทวิวรรคสอง พ.รบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 (แก้ไขฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 พิจารณาอนุมัติโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาพิจารณาอนุมัติ ประมาณ 2 ปีจนถึง 10 ปี ชาวบ้านบางรายยื่นคำร้อง ยื่นแล้วยื่นอีกจนแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว เกิดความท้อและไม่อยากคาดหวังว่าจะได้สัญชาติในชาตินี้

ล่าสุดเมื่อระหว่างที่ 7-9 มกราคม 2558 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดประชุมนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการให้สัญชาติและสถานะบุคคล ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด พบว่า 4 ปีที่ผ่านมา(2553-2557)มีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์และพิจารณาได้รับอนุมัติสัญชาติ ตามม.7 ทวิวรรคสอง มีจำนวนเพียง 538 คน จาก 6.8 แสนคน เฉลี่ยอนุมัติปีละ 134.5 คนเท่านั้น หากจะดำเนินการพิสูจน์และพิจารณาอนุมัติให้บุคคลเหล่านี้ได้สัญชาติทั้งหมด จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5,055 ปี แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าบุคคลเหล่านี้จะได้สัญชาติในชาตินี้

ข้อเสนอที่เป็นแนวทางออก วิวัฒน์ เสนอว่า หากกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคงมีความจริงใจและตระหนักในปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก แต่ไม่ยอมแก้ ส่วนสาเหตุ ตนเคยได้ยินผู้ใหญ่บางท่านในกระทรวงหรือฝ่ายความมั่นคงเคยพูดติดตลกว่า เรื่องนี้แก้ไขไม่ยากหากคิดจะแก้ แต่ที่ไม่แก้ เพราะว่าหากแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยแล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงอาจถูกยุบก็ได้ เพราะไม่รู้จะทำอะไรต่อ แม้จะเป็นคำพูดในเชิงล้อเล่น แต่ก็สะท้อนวิธีคิดในการทำงานได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่เอื้อต่อการพิสูจน์สถานะบุคคล เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสได้รับสัญชาติมากขึ้นดังนี้ว่า 1.ขั้นแรกผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจจะต้องมีความกล้าหาญในทางจริยธรรม จริงใจในการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติจะต้องปรับทัศนคติไม่อคติทางชาติพันธุ์และไม่เลือกปฏิบัติ

2.ปรับหรือลดหลักเกณฑ์การพิสูจน์และกำหนดสถานะบุคคลตามมติครม.7 ธันวาคม 2553 บางข้อบางเงื่อนไขให้เอื้อต่อการพิสูจน์มากขึ้น เช่น ไม่ควรใช้หลักเกณฑ์การพูดภาษาไทยได้มาเป็นเงื่อนไข เพราะคนไร้สัญชาติจำนวนมากพูดภาษาไทยไม่ได้ คนพิการที่พูดไม่ได้จะทำอย่างไร การใช้หลักเกณฑ์การประกอบอาชีพสุจริต ผู้ยื่นจะต้องไปขอใบอนุญาตทำงานที่กรมแรงงาน เหมือนแรงงานต่างด้าวทำให้เสียเงินจำนวนมาก และต้องมีนายจ้างปลอมที่เป็นสามีหรือภรรยามารับรองซึ่งสุมเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ เด็กที่มีพ่อแม่ต่างด้าวมีสิทธิขอพิสูจน์สัญชาติจะต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยและสำเร็จการศึกษาออกมาได้ หรือคนที่ขอพิสูจน์จะต้องไม่เคยต้องคดีอาญามาก่อน หรือกรณีเคยต้องคดีอาญาจะต้องให้ครบ 5 ปี ณ วันที่ยื่นคำร้อง ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้จำกัดสิทธิ 

3.ควรลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสัญชาติตาม ม.7 ทวิวรรคสองให้อยู่ในระดับจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเป็นผู้พิจารณา อนุมัติ แทนรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพราะผู้ว่าราชการและนายอำเภออยู่ ใกล้ชิดประชาชนย่อมรู้และเข้าใจปัญหาดีกว่า

4.มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจาณาอนุมัติสัญชาติให้ชัดเจนเหมือน ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้ระยะเวลาพิสูจน์จนถึงพิจารณาอนุมัติไม่เกิน 30 วัน หรือสูงสุดใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน เป็นต้น

5.กระทรวงมหาดไทย ควรจัดสรรตำแหน่งปลัดอำเภอที่รับผิดชอบด้านสัญชาติและสถานะบุคคลโดยตรงให้แก่อำเภอที่ติดชายแดนหรือมีจำนวนคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก      

ซึ่งข้อเสนอแนวทางออกดังกล่าว หน่วยงานระดับปฏิบัติเช่น อำเภอและจังหวัดก็เห็นด้วย ได้เคยนำเสนอในที่ประชุมของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองหรือรับฟังแต่อย่างใด 

วิวัฒน์ เชื่อว่า หากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงยอมรับแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ก็สามารถจะแก้ไขปัญหาการพิสูจน์และพิจารณาอนุมัติสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่คนไร้สัญชาติได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอถึง 5 พันปี หรือรอไปจนถึงชาติหน้า...