ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้สูงอายุหลังพบป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน และข้อเข่าเสื่อม เตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยจัดระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ อยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้พิการ พร้อมสนับสนุนผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากตนเองผ่านแกนนำชมรม

วันนี้ (23 มีนาคม 2558) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุของประเทศไทย ว่า จากรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทยปี 2556 โดยกรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ร้อยละ 26 เช่น ออกกำลังกายทุกวัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ขณะที่ผู้สูงอายุ 9.2 ล้านคน หรือร้อยละ 95 ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41 เบาหวาน ร้อยละ 10 เข้าเสื่อม ร้อยละ 9 ซึมเศร้า ร้อยละ 1 เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ร้อยละ 1 และผู้พิการ ร้อยละ 6 ในจำนวนนี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เพียงร้อยละ 57 โดยยังพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 50 มีภาวะอ้วนหรือเป็น โรคอ้วน ทำให้การเดินลำบากยิ่งขึ้น และพบผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 6 แสนคน

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนและสัดส่วน โดยปี 2555 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 7.4 และอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 12.59 ซึ่งคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หมายถึงมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรืออาจกล่าวได้ว่าในปี 2564 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ : Aged Society และจากนั้นอีก 10 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้เตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยจัดระบบสร้างเสริม สุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยการคัดกรองเพื่อจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิงและประเมินความจำเป็นด้านการสนับสนุนบริการและจัดบริการด้านสุขภาพและสังคม รวมถึงมี Care giver และ Care manager อย่างเพียงพอในสัดส่วน Care manager 1 คน ต่อ Care giver 5-7 คน และ Care giver 1 คน ต่อผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง 5-7 คน โดยให้บูรณาการเรื่องการนวดไทยเข้าไปในหลักสูตร Care manager และ Care giver เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะพึ่งพิง รวมถึงผู้พิการด้วย นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเห็นความสำคัญของโถส้วมแบบนั่งราบสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมจากการใช้โถส้วมแบบนั่งยอง และกำหนดให้ส้วมสาธารณะมีโถส้วมแบบนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ไว้ให้บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ

"ทั้งนี้ กรมอนามัยยังได้สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและเข้าถึงบริการตามความจำเป็นได้ง่าย ทันเวลา พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายบริการปฐมภูมิซึ่งมีบทบาทหลัก ได้แก่ 1) สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดูแลตนเองผ่านชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก หรือ อสม. หรือผู้ดูแล ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 730,000 คน สามารถดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองผ่านแกนนำชมรมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวน 3,510 ชมรม 2) จัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาพื้นฐานในหน่วยบริการระดับตำบลซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ปัจจุบันมีการจัดบริการแก่ผู้สูงอายุ 967 แห่ง และ 3) ประสานและส่งต่อเพื่อรับการรักษาและใส่ฟันเทียมตามความจำเป็น รวมทั้งติดตามผลการรักษาในชุมชนเพื่อดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย และเตรียมขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุทั้งในระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ โดยมีเป้าหมายจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว