ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย. เดินหน้าแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง กำหนดปริมาณสารไอโอดีนไม่น้อยกว่า 20 มก./กก. และไม่เกิน 40 มก./กก.พร้อมสนับสนุนเครื่องผสมเกลือให้กับผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวน 100 เครื่อง พัฒนาระบบประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตเกลือบริโภค พร้อมทั้งลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการผลิตและการควบคุมคุณภาพเกลือบริโภคของสถานประกอบการ เพื่อให้มั่นใจว่าเกลือบริโภคที่ผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน 100 เปอร์เซ็นต์

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากพระราชดำรัสของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เรื่องการขาดสารไอโอดีน เหตุที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องนี้เพราะแต่ก่อนเคยเห็นคนมีก้อนโตๆ ที่คอมากมายทั้งหมู่บ้าน วันหนึ่งฟังวิทยุ มีบทความของกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าถ้าขาดไอโอดีน จะทำให้เป็นโรคเอ๋อได้...” และเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ.2554 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเกลือบริโภค กำหนดให้มีปริมาณสารไอโอดีนไม่น้อยกว่า 20 มก./กก. และไม่เกิน 40 มก./กก. พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภคให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 100เครื่อง ในปี พ.ศ.2556 เพื่อช่วยพัฒนาการผลิตเกลือบริโภคให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการติดตั้งเครื่องผสม มีกำลังการผลิตเกลือบริโภค 84,519 ตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ56.35 ของกำลังการผลิตเกลือบริโภคของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง พร้อมทั้งอบรมการผลิตเกลือบริโภคด้วยเครื่องผสมเกลือบริโภค การบำรุงรักษาเครื่องผสมเกลือบริโภค จากการประเมินและติดตามการผลิตเกลือบริโภคภายหลังได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมเกลือบริโภค 1 ปี พบว่าเกลือบริโภคมีปริมาณไอโอดีนผ่านมาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 100 นอกจากนี้ อย. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนสารโพแทสเซียมไอโอเดตให้กับผู้ประกอบการเกลือบริโภคและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่เสริมไอโอดีน ทั่วประเทศ จำนวน 7,614 กิโลกรัม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสารโพแทสเซียมไอโอเดตและผลิตผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น

นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2558 นี้ อย. มุ่งเน้นการพัฒนาและจัดทำระบบประกันคุณภาพและระบบควบคุมคุณภาพ ด้วยการจัดทำคู่มือการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนและการพัฒนาระบบประกันคุณภาพสำหรับผู้ประกอบการ และอบรมการจัดทำระบบบริหารคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการเกลือบริโภคและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ พร้อมทั้งลงพื้นที่ติดตามการผลิตและการควบคุมคุณภาพเกลือบริโภคของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำลังการผลิตเกลือบริโภคสูงถึงร้อยละ70 ของกำลังการผลิตเกลือบริโภคทั้งหมด ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อให้มั่นใจว่าเกลือบริโภคที่ผลิตมีคุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ในอนาคตข้างหน้า อย. มุ่งหวังสร้างความแข็งแรงของชมรมผู้ประกอบการผลิตเกลือบริโภคเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเกลือบริโภคให้มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ อย. ยังดำเนินการเฝ้าระวังเกลือบริโภคที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มข้น หากพบเกลือบริโภคไม่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. จะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากตรวจพบเกลือบริโภคที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินการของ อย. ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน