ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าของขวัญฟันเทียมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 35,000 ราย สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หลังดำเนินการ 6 เดือน สำเร็จแล้วกว่าครึ่ง เพิ่มเป้าหมายอีก 2,200 ราย เร่งผนึกกำลังคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน 4 ภาค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เอื้อความสะดวกผู้สูงอายุใช้บริการใกล้บ้าน กำหนดเสร็จธันวาคมนี้

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมด้วยคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิ-โรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามความร่วมมือเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานฯ แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่สูญเสียฟันทั้งปากสำหรับการบดเคี้ยวอาหาร ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ได้รับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2557 มีผู้สูงอายุ 9 ล้านกว่าคน หรือร้อยละ 14 ของประชากรไทย จึงต้องเตรียมแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยองค์การอนามัยโลกเสนอแนะว่า หากลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรคเรื้อรังได้ ผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัญหาสุขภาพช่องปากนับเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ การสำรวจสภาวะสุขภาวะช่องปากแห่งชาติล่าสุด พ.ศ. 2555 พบผู้สูงอายุที่มีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ ร้อยละ 42 แนวโน้มการสูญเสียฟันทั้งปากดีขึ้น มีความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจำนวน 236,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในโครงการใส่ฟันเทียมพระราชทานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ โดยในปี 2558 นี้ ได้จัดเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้สูงอายุ 35,000 ราย เร่งดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน มีความคืบหน้าไปกว่าครึ่ง มีผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมแล้ว 19,760 ราย คาดว่าจะครบตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ละรายใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเหลือผู้สูงอายุที่รอใส่ฟันเทียมอีกจำนวนหนึ่ง จึงได้เพิ่มเป้าหมายอีก 2,200 ราย โดยกระทรวงฯได้ร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 9 มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใส่ฟันเทียม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เร่งขยายบริการให้ผู้สูงอายุมากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีปัญหา เช่น สันเหงือกแบนราบ ต้องการความเชี่ยวชาญระดับสูงการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ผู้สูงอายุได้ใส่ฟันเทียมทั้งปากคุณภาพสูงได้เร็วขึ้น ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นเดือนธันวาคม 2558 แน่นอน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีบทบาทในการประสานงาน และสื่อสารภาพรวมของโครงการกับสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อจัดบริการและสนับสนุนการจัดบริการฟันเทียมพระราชทานแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการส่งต่อกลุ่มเป้าหมายที่รอคิวทำฟันเทียมนานเกิน 6 เดือน หรือกรณีที่มีความยากและซับซ้อนให้เข้ารับบริการที่คณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 9สถาบัน เพื่อให้ทั้ง 9 สถาบันจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่กลุ่มเป้าหมายด้วย สำหรับผู้ใช้สิทธิ์อื่นๆ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรืออื่นๆ ตามสิทธิ์นั้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่การคัดกรอง การเตรียมช่องปาก การให้คำแนะนำ และการประชาสัมพันธ์ รวมถึงค่าชดเชยอุปกรณ์ฟันเทียมตามราคาที่กำหนดในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 12,980,000 บาท แก่ผู้สูงอายุจำนวน 2,200 รายที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกรณีการใส่ฟันปลอมทั้งปากและใส่ฟันปลอมแก่ผู้ไม่มีฟันตั้งแต่ 16 ซี่ขึ้นไป