ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : ‘คุณหญิงสุดารัตน์’ เผยหลักประกันสุขภาพปัจจุบันมีหลักการผิดเพี้ยนจากเดิม ระบุปัจจุบันนี้ รพ.ได้รับงบน้อย แนะจัดสรรเงินเข้าสู่ รพ.เพื่อดำเนินการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตามแนวทางของ สธ. สปสช. และเขตสุขภาพประชาชน แจงปัจจุบันพบมีการนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายมั่ว สปสช.เอาเงินไปทำเอง ตั้งโครงการสะแสะปะ ทำให้เงินถูกดูดออกมาจาก รพ. แจงก่อนให้ประชาชนร่วมจ่าย จ้องจัดสรรเงินให้เหมาะสม ให้ถึง รพ. อย่าหายออกจากระบบ มั่นใจ 2,500 บ. คือค่าหัวสูงสุดที่ควรจะเป็น

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 11 เม.ย. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเรียกร้องให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเพื่อแก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง ว่า ในฐานะที่เป็นคนริเริ่มโครงการนี้เห็นแล้วไม่สบายใจ เพราะหลักการผิดเพี้ยนไปจากเดิม ที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ควบคู่กับการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ว่ามีสิทธิในการรักษาฟรีก็ไปรักษาฟรีเท่านั้น ดังนั้นงบประมาณในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้จะต้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. จัดสรรงบประมาณให้กับ รพ.อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพราะวันนี้ รพ.ได้รับงบประมาณน้อยมากเท่ากับในช่วงที่ได้รับงบประมาณเพียง 1,300 บาทต่อหัว ในขณะที่ปัจจุบันได้รับงบประมาณสูงถึง 2,895 บาท

2. จัดสรรเข้าสู่ รพ.เพื่อดำเนินการเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ตามแนวทางของ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และเขตสุขภาพประชาชนร่วมกัน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะปัจจุบันพบว่ามีการนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายมั่ว สปสช.เอาเงินไปทำเอง มีการตั้งโครงการต่างๆ สะเปะสะปะ ไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เงินถูกดูดออกมาอยู่ในโครงการเหล่านี้จำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับผู้ปฏิบัติงานจริงๆ จึงน่าเห็นใจ รพ.ทุกระดับที่ได้รับเงินรายหัวไม่เพียงพอในขณะที่งบประมาณเพิ่มมากกว่าถึงเท่าตัว และ 3. จัดสรรไปใช้เพื่อการปรับปรุงศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ (Excellent Center) ร่วมกัน จัดหาเครื่องมือต่างๆ ให้กับรพ.ต่างๆ ทั้ง รพ.ใหญ่และ รพ.เล็ก อย่างเพียงพอ ดังนั้นอยากให้นั่งคุยกัน พิจารณาตัวเงินงบประมาณทั้งหมด และจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สนับสนุนงบประมาณให้ รพ.อย่างเพียงพอ เพราะเป็นหน้าด่านที่ทำงานทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรค

"ก่อนจะให้ประชาชนร่วมจ่าย คุณจัดงบประมาณให้เหมาะสมให้ถูกต้อง เงินที่คุณเอาไปทำโครงการต่างๆ เอาไปโฆษณานู่นนี่นั่น เอากลับมารวมให้ถึงประชาชนจริงๆ อย่าให้หล่นเบี้ยบ้ายรายทาง เอาตรงนี้ให้จบก่อนแล้วค่อยมาคิดว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย เพราะวันนี้เงินหายออกไปจากระบบ เงินจากต้นทางไม่ได้ลงไปสู่ประชาชนโดยตรงผ่าน รพ. เอาตรงนี้กลับมาก่อน ขาดเท่าไหร่ค่อยมาว่ากัน พี่มั่นใจว่าเงิน 2,500 บาทต่อหัวคือสูงสุดที่ควรจะเป็น แถม รพ.ยังจะได้รับ 1,500 บาทเป็นอย่างน้อย" อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 เม.ย. 2558 (กรอบบ่าย)