ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร์” หวั่นปรับโครงสร้างบอร์ดสปสช. ลดบทบาทภาคประชาชน ทำลายหลักการประกันสุขภาพ เปลี่ยนจากสิทธิเป็นสงเคราะห์ ทำบัตรทองเป็นระบบอนาถา แนะต้องเดินตามร่าง รธน.ฉบับใหม่ เน้นความสำคัญภาคพลเมือง เพิ่มสัดส่วนกรรมการภาคประชาชน พร้อมผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ แต่ลดสัดส่วนกรรมการฝ่ายข้าราชการ เหตุผูกติดการเมืองแทรกแซงได้ง่าย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการพิจารณาเพื่อปรับโครงสร้างการบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบอร์ดสปสช.ในขณะนี้ว่า ในการปรับโครงสร้างบอร์ดสปสช. และการบริหาร สปสช.นั้น ก่อนอื่นคงต้องกลับไปดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้แถลงในรัฐสภา ซึ่งได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมของพลเมือง เรียกว่าให้พลเมืองเป็นใหญ่ มีส่วนร่วมในการออกความเห็นและบริหารประเทศ โดยลดอำนาจการเมืองภาคผู้แทน ซึ่งหากตามหลักการนี้เมื่อดู พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้มีการคิดและกำหนดไว้แล้ว โดยเน้นให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากทั้งในระดับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จนไปถึงระดับอนุกรรมการในระดับพื้นที่ ที่ภาคประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในทุกส่วน ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นหลักการที่ดีซึ่งต้องรักษาไว้ 

ส่วนการปรับโครงสร้างบอร์ดสปสช.นั้น หากเป็นไปได้ขอเสนอให้ปรับปรุงสัดส่วนกรรมการบอร์ด สปสช.ใหม่ โดยขอให้ปรับลดในส่วนกรรมการที่เป็นข้าราชการโดยตำแหน่ง คือปลัดกระทรวงต่างๆ ที่มีจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะกรรมการส่วนนี้จะผูกติดและฟังเสียงจากฝ่ายการเมือง ทำให้มีการชี้นำได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ต้องดำเนินส่วนนี้ และขอให้เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการระดับต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ที่ปัจจุบันมีเฉพาะปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เท่านั้นที่เป็นตัวแทนหน่วยบริการเหล่านี้ ซึ่งหากปลัดสธ.ไม่เข้าร่วมประชุม ก็จะไม่สามารถประสานผู้แทนในส่วนหน่วยบริการได้เลย และที่ผ่านมาเคยมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 

นอกจากนี้ยังควรปรับลดในส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลง เนื่องจากขณะนี้มีสัดส่วนถึง 7 คน จากกรรมการที่มีทั้งหมด 30 คน จึงถือว่ามากเกินไป แต่ให้คงไว้ในส่วนของผู้แทนท้องถิ่น ทั้งผู้แทนเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงเขตพื้นที่เมืองพิเศษอย่างพัทยาและ กทม. นอกจากนี้หากให้เป็นไปตามร่าง รธน.ฉบับใหม่ ควรที่จะปรับเพิ่มกรรมการในส่วนภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5 คนเท่านั้น โดยให้ครบ 9 เครือข่าย แต่ที่ผ่านมากลับมีกระแสว่าจะมีการลดสัดส่วนภาคประชาชนลง โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถคุมได้ หากเป็นเช่นนี้จริงต้องถามว่าเป็นการดำเนินการที่สวนกับเนื้อหาร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้หรือไม่

“ที่ผ่านมาผู้แทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช. ต้องบอกว่าเป็นเสียงพูดมาก เพราะเรามีความเห็นจากการเกาะติดปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการเข้าถึงการรักษา อีกทั้งด้วยการที่มีสัดส่วนกรรมการภาคประชาชนเพียงแค่ 5 คน ทำให้เราต้องเป็นตัวแทนให้กับเครือข่ายภาคประชาชนในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ อาทิ เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายภาคเกษตร เครือข่ายชุมชนแออัด และเครือข่ายเด็กและยาวชน เป็นต้น จึงต้องพูดในทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราไม่ได้ค้านทุกเรื่อง หรือค้านระบบ เพียงแต่เพื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้น โดยเป็นเสียงสะท้อนที่ให้เห็นช่องว่างพัฒนาเพิ่มเติม” นายนิมิตร์ กล่าว และว่า ทั้งนี้วงประชุมบอร์ด สปสช.อาจแตกต่างจากบอร์ดอื่นๆ เพราะที่นี่กรรมการมีการเถียงหรือแสดงความเห็นแย้งต่อรัฐมนตรีได้

ต่อข้อซักถามว่า เมื่อมีข่าวปรับโครงสร้าง สปสช. มีความกังวลในเรื่องใด นายนิมิตร์ กล่าวว่า กังวลว่าการปรับโครงสร้าง สปสช.ครั้งนี้จะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยลง ซึ่งหากภาคการเมืองและภาครัฐไม่เข้าใจก็จะทำลายการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือความพยายามที่จะทำลายหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากสิทธิให้กลายเป้นสงเคราะห์ และนำไปสู่การเป็นระบบรักษาพยาบาลแบบอนาถาไปในที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของโครงสร้างการบริหารงบประมาณ เกรงว่าจะมีการปรับโครงสร้างในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า เรื่องโครงสร้างงบประมาณไม่ห่วง เพราะระบบงบประมาณได้ถูกกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งต้องกระจายไปตามประชากรและส่งไปให้กับหน่วยบริการ รวมถึงงบประมาณกองทุนเฉพาะโรค โรคค่าใช้จ่ายสูงไว้ที่ส่วนกลางที่จะกระจายให้กับหน่วยบริการที่ให้บริการเท่านั้น ซึ่งเป็นระบบที่ดี เป็นเหตุเป็นผล และเป็นเรื่องยากที่จะมีการเข้าแทรกแซง