ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักศึกษา มจธ. รวมตัวสร้างต้นแบบชุดอุปกรณ์ช่วยผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกครบวงจรด้วยอุปกรณ์ตรวจจับองศาการเดิน และระบบการแจ้งเตือนไปยังญาติผู้ป่วยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเก็บบันทึกข้อมูลด้านพัฒนาการการเดินอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการรักษาของแพทย์

“อัมพาตครึ่งซีก” เป็นหนึ่งในอาการป่วยที่เกิดจากการจากความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรือหลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke) ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างรุนแรง หรือผู้ที่มีโรคความดันโลหิตเป็นโรคประจำตัว ซึ่งในประเทศไทยเองอาการของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีหลายระดับ และมีความต้องการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป แต่อุปกรณ์เพียงชนิดเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของผู้ป่วยทุกคน หรือไม่ตรงต่อสถานการณ์ที่ผู้ป่วยต้องการ แต่ล่าสุดก็มีการออกแบบอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกขึ้นมาในรูปแบบที่แยกออกเป็นโมดูล

นักศึกษา 6 คน จากสถาบันวิทยากรหุ่นยนต์ภาคสนามและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ที่รวมตัวกันเฉพาะกิจในชื่อทีม iNoid อย่าง วิษณุ จูธารี, อธิราช ภุมมะภูติ, ฉัตริยะ จริยวจี, พชร โรจนดิษกุล, สุวัฒน์ แซ่ก๊วย และ ณรัฐ ไวยาวัจมัย เพื่อร่วมกันพัฒนาผลงาน “ชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล” โดย ฉัตริยะ หรือน้องเจ็ท กล่าวว่า ชุดอุปกรณ์ที่พวกเขาออกแบบขึ้นนั้นเป็นระบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์หน่วยย่อย (Module) ที่มีความสามารถแตกต่างกัน เช่น อุปกรณ์สำหรับวัดและประเมินการเดินของผู้ป่วย การแจ้งเตือน และการเรียกขอความช่วยเหลือ ซึ่งสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือจะใช้ร่วมกันทั้งหมดก็ได้

“เราออกแบบระบบไว้สามส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นอุปกรณ์ที่ติดตัวผู้ป่วย แบ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับ และแจ้งเตือน 3 ระยะ โดยส่วนที่หนึ่งคืออุปกรณ์ตรวจจับการเดินที่ติดตัวผู้ป่วย มีทั้งหมดสามชิ้นได้แก่อุปกรณ์สำหรับติดที่ขาทั้งสองข้าง ออกแบบให้มีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับลักษณะการเดินของผู้ป่วยซึ่งมีลักษณะการเดินแบบเหวี่ยงขาไปด้านข้าง ที่แตกต่างจากการเดินของคนปกติ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกจะต้องผ่านการฝึกเดินในท่าที่ถูกต้องจากโรงพยาบาล และหากมีการเดินที่ผิดท่าทาง อุปกรณ์นี้จะทำการแจ้งเตือนให้ผู้ป่วยรู้ตัวและปรับท่าการเดินใหม่ทันที

นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ชิ้นที่ติดไว้ใต้ฝ่าเท้าเพื่อวัดแรงกดและจุดลงน้ำหนักของเท้าระหว่างเดิน ซึ่งค่าที่อุปกรณ์อ่านได้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ในการวิเคราะห์อาการคนไข้ได้เป็นอย่างดี และอุปกรณ์ที่ติดตัวคนไข้อีกชิ้นจะติดอยู่ที่หน้าอกเพื่อวัดองศาลำตัวของผู้ป่วยหากเซ็นเซอร์จับค่าที่ผิดปกติหรือมีการเอียงมากกว่าปกติ แสดงว่าผู้ป่วยอาจกำลังจะล้ม หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้มนานเกินไป โดยอุปกรณ์จะมีการส่งเสียงเตือน แต่หากผู้ป่วยล้มลงไปแล้วอุปกรณ์จะส่งสัญญาณผ่านระบบ wifi ไปยังระบบส่วนที่สองคืออุปกรณ์สนับสนุนผู้ป่วยภายในบ้าน (Global Connector) ในระยะ 15 เมตร อุปกรณ์จะแจ้งเตือนด้วยเสียงดังภายในบ้าน ในกรณีที่ผู้ป่วยล้มเพื่อให้ญาติรับรู้และมาช่วยเหลือได้ทันในกรณีที่ผู้ป่วยล้มและหมดสติสัญญาณจะดังขึ้นอัตโนมัติ แต่หากผู้ป่วยยังมีสติก็สามารถกดปุ่มเพื่อขอความช่วยเหลือจากอุปกรณ์ที่ติดกับตัวผู้ป่วยได้ทันที

และเมื่อเกิดการแจ้งเตือนอุปกรณ์จะส่งสัญญาณต่อไปยังระบบส่วนที่สาม คือ เซิฟเวอร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยรวมถึงการรับข้อมูลมาเพื่อแจ้งเตือนต่อไปยังมือถือของญาติผู้ป่วยผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า iStroke ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ญาติไม่ได้อยู่บ้านกับผู้ป่วย หรือผู้ป่วยอยู่บ้านคนเดียว ทันทีที่มีการแจ้งเตือนแอพพลิเคชั่นจะแสดงตำแหน่งที่ผู้ป่วยอยู่ มีปุ่มโทรด่วนไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อเรียกรถพยาบาล และมี GPS ที่จะแสดงเส้นทางจากตำแหน่งที่ญาติจะสามารถเดินทางไปหาผู้ป่วยได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนั้นข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้ป่วยจากการตรวจจับของเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาไว้เพื่อความสะดวกต่อการวิเคราะห์อาการและการรักษาของแพทย์”

วิษณุ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล ที่พวกเขาออกแบบมานั้นเป็นการออกแบบเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาของผู้ป่วยมากที่สุด ถึงแม้จะผ่านการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (Thailand Innovative for Assistive Technology 2014) มาแล้ว และสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ แต่ก็ยังคงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงในหลายส่วน อาทิ ตัวอุปกรณ์สำหรับติดตัวผู้ป่วยก็ต้องพัฒนาให้มีขนาดกระทัดรัดขึ้นอีก รวมถึงการประสานกับทางโรงพยาบาล เป็นต้น  เนื่องจากการประกวดครั้งนี้ไม่มีทีมใดที่ได้รางวัลชนะเลิศ เพราะไม่มีทีมใดที่สามารถพัฒนานวัตกรรมสำเร็จสมบูรณ์จนถึงขั้นนำมาใช้งานได้จริงทันที ซึ่งผลงานของทีม iNoid เองก็เช่นกัน ที่เป็นเพียงอุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้แต่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกันต่อไป