ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.เผยความคืบหน้า “กองทุนรักษาพยาบาล อปท.” หลังบอร์ด สปสช.รับมอบกรมการปกครอง อปท. บริหารต่อเนื่องปีที่ 2 ช่วยข้าราชการและพนักงาน อปท.พร้อมครอบครัวกว่า 7 แสนคนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ขณะที่ปัญหาร้องเรียนจากการรับบริการลดลงต่อเนื่อง พร้อมชวน ขรก.และพนักงาน อปท. ลงทะเบียนสิทธิเบิกจ่ายตรงเพิ่ม ลดปัญหาเบิกจ่ายด้วยใบเสร็จ แถมเข้าถึงการรักษาเพิ่ม

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องความคืบหน้าการพัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือและข้อตกลงเพื่อคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลในครอบครัวใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 นั้น จากความร่วมมือดังกล่าวซึ่งต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 ส่งผลให้ข้าราชการและพนักงาน อปท.เข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นการแยกการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลของแต่ละ อปท. ซึ่งแต่ละกองทุนมีการกันเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะ อปท.ขนาดเล็กจะมีงบประมาณในส่วนนี้น้อยมากที่เป็นข้อจำกัดการเข้าถึง แต่เมื่อมีการรวมการบริหาร “กองทุนรักษาพยาบาล อปท.” โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดระบบรสิทธิการเบิกจ่ายตรงที่ข้าราชการและพนักงาน อปท. ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาและนำมาเบิกจ่ายในภายหลังเช่นในอดีต ยิ่งเป็นการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานงานและลูกจ้าง อปท.เข้าถึงการรักษา

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. ณ เดือนเมษายน 2558 จากจำนวน อปท.ทั้งสิ้น 7,851 แห่ง มีผู้ขึ้นทะเบียนสิทธิ์ อปท.ทั้งสิ้น 729,334 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิลงทะเบียนจ่ายตรง 475,790 คน หรือร้อยละ 65 ซึ่งในส่วนของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งกรณีการเบิกจ่ายตรงและกรณีใบเสร็จ รวมถึงกรณีการฟอกเลือดล้างไต มีการเบิกจ่ายกองทุนที่ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยในปีแรก 2557 อปท.และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้กันงบอุดหนุนค่ารักษาข้าราชการและพนักงาน อปท.ไว้ที่กว่า 7,000 ล้านบาท โดยประมาณการณ์เทียบเท่างบค่ารักษาพยาบาลกองทุนสวัสดิการข้าราชการเมื่อคำนวณเฉลี่ยรายหัว เมื่อสิ้นปี 2557 มียอดการเบิกจ่ายที่ 3,829,838,734.30 บาท จากจำนวนการรับบริการทั้งสิ้น 2,054,840 ครั้ง

ทั้งนี้ในปี 2558 จึงมีการจัดสรรงบอุดหนุนค่ารักษาพยาบาล 4,061,950 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลการเบิกจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 มีการเบิกจ่าย 838,564,025.80 บาท จากจำนวนการรับบริการ 410,433 ครั้ง โดยเมื่อรวมการเบิกจ่ายทั้งในเดือนตุลาคมปี 2556- 15 กุมภาพันธ์ 2558 เฉลี่ยการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อนำมาเฉลี่ยค่ารักษาตามจำนวนผู้มีสิทธิ กองทุนรักษาพยาบาลมีค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 4,542 บาทต่อคนต่อปี 

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ สปสช.เข้าบริหารกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ต้องยอมรับว่ามีปัญหาการดำเนินงานค่อนข้างมาก เห็นได้จากจำนวนการสอบถามการใช้สิทธิรักษาพยาบาล อปท.ผ่านสายด่วน 1330 โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้บริการและสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการดำเนินระบบบริหารในช่วงแรก แต่ภายหลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาระบบ ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลง ขณะที่ข้าราชการและพนักงาน อปท.ต่างมีความมั่นใจต่อการบริหารของ สปสช.มากขึ้น ส่งผลให้ สปสช.ได้รับมอบการบริหารกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลของ สปสช.ซึ่งเป็นที่ยอมรับ

ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการและพนักงาน อปท.เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง สปสช.จึงได้จัดทำระบบเบิกจ่ายตรง โดยเบิกให้ผู้มีสิทธิเข้าลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงโดยสมัครใจ และลดปัญหาการเบิกจ่ายใบเสร็จ ซึ่งที่ผ่านมามีใบเสร็จที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์การเบิกจ่ายร้อยละ 5.02 เนื่องจากไม่เข้าใจหลักเกณฑ์การพิจารณาการเบิกจ่าย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ข้าราชการและพนักงาน อปท.ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยุ่งยากการเบิกจ่ายด้วยใบเสร็จนี้ ทั้งยังช่วยให้เข้าถึงการรักษาเพิ่ม เนื่องจากไม่ต้องสำรองจ่าย