‘นพ.รัชตะ’ แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 สวิสฯ บทบาทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ชูไอเดียให้ทุกประเทศสร้างหลักประกันสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพ ระบุแม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จะช่วยลดภาระทางการเงินของประชาชนด้านการรักษาพยาบาล และคุ้มครองสุขภาพคนไทยได้ แต่ยังมีข้อจำกัดด้านกำลังคนสุขภาพที่ไม่เพียงพอ การกระจายบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล ชี้จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องลงทุนเพิ่ม ทั้งกำลังคน กระจายบุคลากร พัฒนาบริการปฐมภูมิด้วยหมอครอบครัว และชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 วาระการประชุมเรื่องบทบาทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The contributions of universal health coverage to achieving health related sustainable development goals) ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ด้วยกลไกการลดข้อจำกัดทางการเงิน และมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ อาทิเช่น การให้ยาต้านไวรัส การทำเคมีบำบัด ไปจนถึงการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต รวมถึงการส่งเสริมการให้บริการระดับปฐมภูมิ ส่งผลให้ประชาชนทั้งในชนบท และในเมือง เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ และพ้นภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของประเทศไทยในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ศ.นพ รัชตะ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยังพบข้อจำกัดในการให้บริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่พอเพียง รวมทั้งการกระจายตัวของบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากประเทศสมาชิกจะบรรลุต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมีการลงทุนเพิ่มภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระบบสาธารณสุข ในด้านการผลิตและกระจายตัวของบุคลากรสาธารณสุข การจัดการทางเงิน การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ การพัฒนาระบบบริการระดับปฐมภูมิ ในนโยบายทีมหมอครอบครัว และการส่งเสริมสุขภาพต่อไป
- 1 view