ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทความจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน ตำนานบัตรทอง ตอนที่ 2 หลัง ระบุว่าคงจะเป็นเพราะภาพของระบบบัตรทองผูกติดกับภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามมองหา “ด้านลบ” ของระบบบัตรทอง ซึ่งภาพหนึ่งคือการ “มั่ว” โจมตีว่าระบบบัตรทองเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ประชานิยม” แท้จริงแล้วความฝันของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นความฝันของหลายๆ คนในวงการสาธารณสุขมาช้านาน ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น คือ ผู้เปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ให้ และและแน่นอนว่างานนี้ย่อมไม่สำเร็จถ้าไม่มีใครยอม “เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสนี้”

นพ.วิชัย โชควิวัฒน : ตำนานบัตรทอง (2)

คงจะเป็นเพราะภาพของระบบบัตรทองผูกติดกับภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามมองหา “ด้านลบ” ของระบบบัตรทอง ซึ่งภาพหนึ่งคือการ “มั่ว” โจมตีว่าระบบบัตรทองเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ประชานิยม” 

แท้จริงแล้วความฝันของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นความฝันของหลายๆ คนในวงการสาธารณสุขมาช้านาน ที่สำคัญคือ นพ.อมร นนทสุต ซึ่งพยายามทำเรื่อง “บัตรสุขภาพ” เป็นนโยบายสำคัญตั้งแต่ก่อนมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่สานฝันนี้จนสำเร็จคือ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ และ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร โดยอีกหลายคนสำคัญที่ “รับไม้” มาทำในสมัยเริ่มระบบนี้อย่างเป็นทางการ คือ นพ.มงคล ณ สงขลา ซึ่งเป็นผู้รับนโยบายมาลงมือปฏิบัติขณะดำรงตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการประจำ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ “กุนซือ” คู่ใจคือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง “กองทัพสาธารณสุข” อีกมากมาย 

ความฝันอันงดงามประดุจ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แท้จริงแล้วเป็นการสานต่อความฝันของพระปิยมหาราชเจ้า ที่ทรงริเริ่มสร้างโรงพยาบาลศิริราช เพราะความห่วงใยที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ “ลูกราษฎร” สืบต่อมาถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของชนชาติไทยหวังให้เป็นมหาอำนาจ และต่อมาคือความฝันใน “ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ทำให้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นผลพวงสำคัญของประชาชนคนไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มจากกำหนดให้รัฐต้องให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า และพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กำหนดนโยบายช่วงชิงประชาชนข้อหนึ่งคือ “รักษาฟรี” ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนในยุคต่อๆ มาโจมตีว่าเป็นประชานิยมเลย มีแต่การเพิ่มงบประมาณและขยายการครอบคลุมจากการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เป็นการสงเคราะห์แก่ “บุคคลที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูล” ได้แก่ เด็ก คนชรา คนพิการ เป็นต้น

ความฝันในปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ นั้น กลายมาเป็นธงนำสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540-2544 เมื่อไทยเริ่มเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศครั้งสำคัญจากการมุ่งการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ มาเป็นการพัฒนาโดยมุ่งประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งประชาชนมีส่วนในการขับเคลื่อนอย่างกว้างขวาง จนได้ฉายาว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็ได้ขยายเป้าหมาย และหลักการของหลักประกันสุขภาพให้เป็นสิทธิของประชาชน มิใช่เป็นการสงเคราะห์อย่างแต่ก่อน

นพ.สงวน และ นพ.วิโรจน์ เป็นผู้ที่มุ่งมั่น และ “กัดติด” เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของ นพ.วิโรจน์ ก็ทำเรื่องนี้ และหลังใช้เวลาวางระบบงานด้านการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมเป็นเวลา 4 ปี โดยเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเสนอตัวบุคคลประกอบเป็นคณะกรรมการการแพทย์ชุดแรก ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้ว นพ.สงวน ก็คิด ฝัน ศึกษาวิจัย และประกาศชัดเจนว่า ในชีวิตนี้งานเดียวที่จะทำต่อไป คือ การปฏิรูปบริการสุขภาพ (Healthcare Reform) ซึ่งสาระสำคัญก็คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage : UC) นี้เอง 

นพ.สงวนได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ มี “โครงการอยุธยา” เป็นต้น เป็นการศึกษาวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) หาทางลดความแออัดในโรงพยาบาลจังหวัด โดยการตั้งคลินิกชุมชนขึ้น หวังให้โรงพยาบาลเป็นที่ “สัปปายะ” อย่างแท้จริง ไม่จอแจแออัดเหมือนตลาดสดอย่างที่เป็นอยู่มาจนทุกวันนี้ ความฝันของ นพ.สงวน คือ บริการคนไข้นอกต้องไปอยู่ในชุมชน กระจายออกไปให้ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ประชาชนมากที่สุด ต้องทำจนกระทั่งปิดแผนกคนไข้นอกในโรงพยาบาลให้หมด เหมือนระบบโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ และเครือจักรภพ รวมทั้งที่ฮ่องกง เป็นต้น

นอกจากระบบบริการแล้ว ยังมีการศึกษาระบบการเงินการคลัง หาตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้จ่ายเท่าไร และอย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งจะต้องสร้างองค์กรให้เป็น “นวัตกรรมการบริหาร” ให้สามารถบริหารแบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อ “อภิบาลระบบ” ให้มี “ธรรมาภิบาล” อย่างแท้จริง แน่นอนว่าประสบการณ์อันขมขื่นตลอดชีวิตราชการของ นพ.สงวน ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกไปรับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเกือบๆ จะได้เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมาด้วยซ้ำ แต่ นพ.สงวน ก็พบว่า พันธนาการของระบบราชการ ไม่มีทางที่จะสร้างธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง และข้อสำคัญคือไม่สามารถทำให้เกิด “ประโยชน์สุข” ที่แท้จริงแก่ประชาชนได้ แม้จะทุ่มเทเงินทองลงไปเท่าใดก็ตาม เงินก้อนนั้นก็จะไร้ประสิทธิผล และประสิทธิภาพ และมีโอกาสสูงที่จะมีการทุจริตคอรัปชั่นตามมา ดังที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีการทุจริตยา 1400 ล้าน ที่เกิดขึ้นช่วงหลังจากกลางปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศ

“ประโยชน์สุข” ของประชาชนที่ นพ.สงวน มุ่งบรรลุนั้น ก็คือการดำเนินรอยตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประกาศเป็นพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการนี้ เป็นประโยคเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศครั้งแรก ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” เพียงเปลี่ยนคำว่า “ของ” เป็น “แห่ง” เท่านั้น

สาระสำคัญ คือ จะปกครองแผ่นดินโดยธรรม ซึ่งย่อมหมายถึง ทศพิธราชธรรมนั่นเอง และเป้าหมายย่อมกระทำทั้งเพื่อ “ประโยชน์” และ “ความสุข” ของมหาชนชาวสยาม ซึ่งชาวสยามย่อมหมายรวมถึงประชาชนในประเทศทุกเชื้อชาติศาสนา ทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่เหล่า นั่นเอง มิใช่เฉพาะคนที่มีเชื้อชาติไทยเท่านั้น

จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จากการทำงานอย่างมุ่งมั่น ด้วยอิทธิบาทสี่อย่างแท้จริง คือ ฉันทะ ความรักในงานนี้อย่างสุดจิตสุดใจ วิริยะ คือ ความพากเพียรพยามยามอย่างไม่ลดละ จิตตะ คือ จิตใจที่ฝักใฝ่หมกมุ่นครุ่นคิด หาความรู้ สร้างปัญญาอย่างต่อเนื่อง และ วิมังสา คือ การหมั่นตรวจตรา ตรวจสอบ ทบทวน แก้ปัญหาอยู่เป็นนิจ

ดังนั้น แทนที่จะทำเป็น “โครงการ” เหมือนโครงการรักษาฟรีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นโครงการตลอด 26 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนถึง พ.ศ. 2544 จึงได้มีการผลักดันจนเกิดเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

สาระสำคัญที่เป็นหัวใจของพระราชบัญญัติดังกล่าว

ประการแรก คือ การกำหนดให้การได้รับการดูแลสุขภาพเป็นสิทธิ์ของประชาชน มิใช่เป็นการสงเคราะห์อย่างแต่ก่อน

หัวใจสำคัญในประเด็นนี้คือการยกฐานะของประชาชนให้เป็นพลเมืองของประเทศ มีศักดิ์ศรีเสมอกันกับบุคลากรที่เป็นผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานโดยทั่วถึงไว้ด้วย หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การลบภาพการปฏิบัติกับประชาชนที่มารับบริการอย่าง “เปรตมาขอรับส่วนบุญ” ให้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทย

ประการที่สอง คือ การสร้าง “นวัตกรรมการบริหาร” คือ การตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ของประชาชนในการกำหนดสิทธิประโยชน์ และเป็นตัวแทนประชาชนในการคุ้มครองดูแลให้ประชาชนได้รับบริการอย่าง เท่าเทียม มีคุณภาพ และ มีประสิทธิภาพ

ในอดีต ตั้งแต่ครั้งนโยบายรักษาฟรีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้วิธีการ “เพิ่มเงิน” เข้าสู่ระบบเท่านั้น ยังไม่มีการปฏิรูประบบ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหาร ทำให้ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ ความเท่าเทียม (Equity) คุณภาพ (Quality) และประสิทธิภาพ (Efficiency) แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการพัฒนาและปฏิรูประบบบริการโดยต่อเนื่อง และมีการพัฒนาคุณภาพ ทั้งโดยระบบขององค์การมาตรฐานสากล (International Standard Organization : ISO) และระบบที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ คือ ระบบการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation : HA) ซึ่งทำให้บริการโรงพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพดีขึ้นมากก็ตาม แต่เพราะถูกครอบงำโดยระบบราชการ จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายคือ “การปกครองโดยธรรม” และเพื่อ “ประโยชน์สุข” แห่งมหาชนชาวสยามได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้เพราะระบบราชการบริหารโดยอำนาจรวมศูนย์ ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และการบริหารแบบระบบอุปถัมภ์ มือใครยาวสาวได้สาวเอาโดยง่าย ขณะที่คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงก็จะถูกระบบพันธนาการจนกระดิกกระเดี้ยได้ยาก เช่น ถูกรัดรึงโดยระเบียบวิธีการงบประมาณ การเพิ่มคนลดคนก็ทำได้ยาก การปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้สนองตอบต่อการแก้ปัญหาก็ทำได้ยาก จึงจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งองค์กรใหม่ แยกการบริหารเงินก้อนใหญ่นี้ออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากเวลาผ่านไปเพียงทศวรรษเศษ ก็มีบทพิสูจน์มากมายว่าแนวคิดและวิธีการนี้ถูกต้อง 

ในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้เขียนสรุปเหตุผลของการ ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้อย่างชัดเจนว่า 

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และ ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ และให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน

นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลได้มีอยู่หลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนกันดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ประการที่สาม การอภิบาลระบบของ สปสช. มีการออกแบบให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด ทำงานคู่ขนานกัน ได้แก่ (1) คือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเพื่อยึดโยงกับอำนาจรัฐ มีผู้บริหารของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อให้เชื่อมโยงและประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีกรรมการจากสภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนภาคประชาสังคม ทำให้เป็นการบริหารในรูปแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) แทนการบริหารงานแบบส่วนราชการ ซึ่งตลอดเวลาราว 13 ปี ที่ผ่านมาพบว่ามีผลดีอย่างมาก สามารถป้องกันการใช้อำนาจฉ้อฉล ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้มากมาย ความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และความไม่พึงพอใจของผู้ให้บริการก็ลดลงเรื่อยๆ แม้บางช่วงบางตอน อำนาจ “การเมืองสามานย์” จะแทรกแซง ครอบงำ ก็ไม่สามารถทำลายระบบ หรือสร้างความเสียหายให้แก่ระบบได้ไม่มากนัก (2) คณะกรรมการคุณภาพที่ก็ประกอบด้วยหลายฝ่าย โดยประธานมิใช่ทั้งฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการประจำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร

งานนี้ แน่นอนว่า ถ้าเป็นนโยบายมาจากฝ่ายการเมืองโดดๆ ไม่มี “เทคโนแครต” และคนในระบบช่วยกันทุ่มเททำ ไม่มีทางจะก่อประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนได้เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้มิใช่เพราะนักการเมืองชั่วร้าย หรือ ไร้ฝีมือ แต่เพราะพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยมีลักษณะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด พรรคการเมืองจึงมักมีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ หรือองค์กรจัดตั้งของผู้มีทุนหรือมีอำนาจ และนักการเมืองส่วนมากก็มักเป็นนักเลือกตั้งมากกว่าจะเป็น

นักการเมืองอาชีพที่ควรพัฒนาเป็น “รัฐบุรุษ” ที่มุ่งกระทำการเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง
งานนี้ประสบความสำเร็จ เพราะมีบุคคลที่ทุ่มเท มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ต่อเนื่อง กัดติด ยอมเหนื่อยยาก และแม้ถูกกล่าวร้าย ทำร้าย ก็อดทนต่อสู้ ไม่ท้อถอย

และแน่นอนว่างานนี้ย่อมไม่สำเร็จถ้าไม่มีใครยอม “เปิดหน้าต่างแห่งโอกาส” ให้งานนี้ เพื่อความเป็นธรรมต้องให้เครดิตแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะ นพ.สงวนได้พยายาม “ขายความคิด” ให้แก่ทุกพรรคการเมืองที่สนใจ แต่พรรคการเมืองส่วนมากไม่เอาใจใส่จริงจัง ขณะที่พรรค ไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ “เอาจริง” กับเรื่องนี้ โดยเมื่อ นพ.สงวน และผมได้ไปเสนอเรื่องนี้ และ พ.ต.ท. ทักษิณ รับเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะใช้ “หาเสียง” เลือกตั้งแล้วก็ไป “ทำการบ้านต่อ”

วันที่ไปเสนอเรื่องนี้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มีทีมงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาร่วมรับฟังด้วยเพียง 3-4 คน ที่สำคัญคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นพ.ประจวบ อึ้งภากรณ์ หลังจาก นพ.สงวนนำเสนอพร้อมฉายพาวเวอร์พ้อยน์ราว 10 สไลด์ พ.ต.ท. ทักษิณ ถามคำถามสำคัญเพียง 2-3 คำถาม ก็ตัดสินใจ “เคาะ” คำถามแรกคือจะต้องใช้เงินมากไหม นายแพทย์สงวนตอบว่า ไม่มาก เพิ่มจากที่ใช้อยู่แล้วราว หนึ่งหมื่นล้านก็ทำได้แล้ว ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ฟังคำตอบแล้วประหลาดใจ ว่าใช้เงินแค่นั้นทำได้จริงๆ หรือ นพ.สงวน ทำเรื่องนี้มานาน มีตัวเลขชัดเจนอยู่ในหัว ยืนยันว่า ทำได้แน่นอน เพราะงบประมาณทุ่มเทลงไปในงานนี้จำนวนมาก มาตั้งแต่สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว และเพิ่มมาอย่างต่อเนื่องขณะนั้นประชาชนคนไทยมีหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมร้อยละ 71 แล้ว เหลืออีกเพียงร้อยละ 29 ฉะนั้น ใช้เงินอีกไม่มากก็ทำครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้แล้ว

คำถามต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม นพ.สงวน ตอบทันทีว่า “ทำแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว” ซึ่งเพิ่งออกนอกระบบจากโรงพยาบาลของราชการ ไปบริหารแบบ “องค์การมหาชน” โดยรัฐบาลที่แล้ว คือ รัฐบาลของ คุณชวน หลีกภัย โดยการดำเนินการของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่งประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543 หยกๆ นั่นเอง โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขไปก้อนหนึ่งในอัตราเท่ากับที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศได้รับ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เลิกใช้วิธีการสงเคราะห์ประชาชนแบบที่กระทรวงสาธารณสุขทำมาตลอด คือยังเรียกเก็บเงินจากประชาชนที่ไม่มีบัตรสงเคราะห์ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ยัง “ฝันร้าย” ตลอดเวลาที่นอนโรงพยาบาล หรือเมื่อกำเงินก้อนหนึ่งไปโรงพยาบาล ก็ไม่รู้ว่าจะพอค่ารักษาหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกเรียกเก็บเท่าไร โรงพยาบาลบ้านแพ้วใช้วิธีให้บริการโดยเรียกเก็บเฉพาะ “ค่าธรรมเนียม” ไปรับบริการ ครั้งละ 40 บาท เท่ากันหมด ไม่ต้องสนใจว่าค่ารักษาจะสูงเท่าใดก็ตาม พ.ต.ท. ทักษิณ ฟังแล้ว ก็ “เคาะ” บอกว่างั้นเก็บแค่ 30 บาทก็พอ จึงนำไปสู่สโลแกน “30 บาท รักษาทุกโรค” 

ในนโยบาหาเสียงของพรรคไทยรักไทยต่อมา

ข้อสำคัญ ที่ต้องให้เครดิตคุณทักษิณ คือ เมื่อชนะเลือกตั้งคุณทักษิณรักษาสัญญา ราวหนึ่งเดือนหลังชนะเลือกตั้ง ก็มีการจัด “เวิร์คชอป” เรื่องนี้ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล เดินหน้านโยบายนี้อย่างรวดเร็ว โดย นพ.สงวน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสถาปนาระบบ ขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมี นพ.มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงที่แต่งตั้งโดยคุณกร ทัพพะรังสี ซึ่งมีเวลาอยู่ในตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการอีกไม่กี่เดือน แต่ด้วยความรวดเร็ว ฉับไว อย่าง “ขิงแก่” ที่ไม่ฝ่อ และมี “มันสมอง” ของอัจฉริยะอย่าง นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อยู่เคียงข้าง งานนี้จึงเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการนำร่อง 6 จังหวัด แต่เมื่อรัฐบาลประกาศออกไป ก็ “โดนใจ” ประชาชนทั่วประเทศทันที เพราะเป็นการช่วยขจัด “ทุกข์อันใหญ่หลวง” ที่กดทับประชาชนมาโดยตลอด จึงมี สส.หลายจังหวัด เดินเข้าห้องรัฐมนตรีสาธารณสุขเรียกร้องขอให้ขยายโครงการไปยังจังหวัดของตน

งานนี้จึงขยายครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว หน้าที่ของคนทำงานอย่าง นพ.สงวน นพ.วิโรจน์ นพ.มงคล นพ.สุวิทย์ คือต้องทำให้งานนี้เป็นสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ “ประชานิยมสามานย์” ให้นักการเมืองใช้หาเสียงเท่านั้น

ติดตามต่อ ตอนที่ 3