ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.เผยความคืบหน้า พระราชบัญญัติเครื่องสำอางฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภค เสริมสร้างเศรษฐกิจ และสอดคล้องสากล

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 58 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงที่จะปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Agreement on the ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme: AHCRS) เช่น ภาครัฐจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกรายการที่วางจำหน่าย ให้มีการนำรายการสารด้านเครื่องสำอางของสหภาพยุโรปมาปรับใช้กับประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นต้น จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล รวมถึงมีการเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ใช้บังคับมานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า จากสถิติของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มเครื่องสำอางระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าการผลิตเพื่อขายในประเทศมากกว่า 150,000 ล้านบาท นั้น พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง.... ฉบับใหม่นี้ ได้เน้นมาตรการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าได้ แต่ต้องไม่มีการนำมาขายในประเทศ ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีมาตรการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องสำอาง  มีมาตรการเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้จากท้องตลาด กำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางนำเข้า มีการกำหนดอายุใบรับจดแจ้งไว้สามปี และยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้ ในกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือกรณีที่ผู้จดแจ้งได้เปลี่ยนหรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางนั้นไปเป็นวัตถุอื่น เช่น ยา อาหาร หรือ เครื่องมือแพทย์ และมีการเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมายให้แรงกว่าเดิม เช่น  ผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้เป็นส่วนผสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้นำมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องสำอางมาบัญญัติไว้ จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522   ซึ่งจะทำให้ อย. สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น   นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มสิทธิของผู้ประกอบการในการอุทธรณ์คำสั่งต่าง ๆ ได้ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และลดการใช้อำนาจโดยมิชอบอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า เมื่อ (ร่าง)พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ....ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะก่อประโยชน์อย่างมากมายและส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนดังที่กล่าวมา