ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : การปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศจีน ถือเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลแดนมังกรชุดปัจจุบันให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างทางการรักษาพยาบาล ที่สร้างภาระให้กับโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก อันเป็นผลจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ประกอบกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพจาก www.chinabusinessreview.com

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประสบปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขในประเทศให้ทั่วถึง เพราะงบประมาณสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาสถานพยาบาลมีไม่สูงมาก ประกอบกับค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่ำ ทำให้โรงพยาบาลท้องถิ่นและคลินิกทางการแพทย์ขนาดเล็กไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดค่านิยมในหมู่ชาวจีนว่า ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น จึงจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ

ค่าตอบแทนแพทย์และพยาบาลที่ต่ำ ยังส่งผลให้โรงพยาบาลหาทางออกในการเพิ่มรายได้ ด้วยการสั่งยาให้ผู้ป่วยมากเกินความจำเป็น เพื่อพึ่งพิงรายได้ส่วนแบ่งจากบริษัทผู้ผลิตยา โดยนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ในปี 2554 รัฐบาลจีนใช้จ่ายเงินในการซื้อยาถึง 43% ของเงินลงทุนด้านสาธารณสุข ขณะที่รายได้จากการจ่ายยาคิดเป็นถึง 41% ของโรงพยาบาลในประเทศ

ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นภาระทำให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องแบกรับผู้ป่วยจำนวนมาก จนเกิดเป็นช่องว่างในเรื่องการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลในเมืองและในชนบท ทั้งยังส่งผลให้เกิดการทุจริตเรื่องราคายา จนรัฐบาลจีนต้องออกมาตรการตรึงราคาไม่ให้สูงเกินจริง

ตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลจีนได้เข็นนโยบายออกมาหลายอย่างด้วยกัน ทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนชาวจีนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง การควบคุมราคายาหลัก เพื่อลดการสั่งยาเกินจำเป็น พร้อมทั้งออกมาตรการเพิ่มมาตรฐานและเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงรายได้ของบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นตามคุณภาพของงาน โดยจะลงทุนราว 5% ของจีดีพี เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบสาธารณสุข คิดเป็นเงินประมาณ 125,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (สถิติเมื่อปี 2554)

และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2560 นี้ ชาวจีนที่เจ็บป่วยด้วยโรครุนแรง จะสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นได้ทันที

นอกจากการปฏิรูปนโยบายพื้นฐาน ในประเทศ รัฐบาลจีนยังเปิดทางให้ภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาเจาะตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ของจีน ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลเอกชนได้ถึง 100% โดยได้เริ่มแผนนำร่องในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่เมื่อปี 2556 พร้อมมองถึงการแปรรูปโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็กให้กลายเป็นของเอกชน โดยหวังให้ โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาแบกรับส่วนแบ่งในการดูแลประชากรจีนให้ได้ถึง 20%

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Co. ประเมินว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ของจีน จะมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 ขณะที่จากการประเมินของมาร์เก็ต วอตช์ พบว่าชาวจีนยังมีแนวโน้มที่จะต้องการยาเพื่อรักษากลุ่มโรคและอาการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เรื่องอาการติดเชื้อ มะเร็ง โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับ ความดัน โรคเบาหวาน รวมทั้งโรคทางเดินหายใจ อันมาพร้อมกับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจดูแลสุขภาพของจีน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวจีนให้ดีขึ้นอย่างเป็นองค์รวม

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 ก.ย. 2558