ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สุขศาลา" เป็นชื่อเรียกสถานพยาบาลตามท้องที่ต่างๆ ในอดีต ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ กล่าวได้ว่าสุขศาลามีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบสุขภาพของคนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อยเนื่องจากเป็นสถานที่ให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดกับผู้คนมานับแต่อดีต

หากย้อนกลับไปถึงความเป็นมาของสุขศาลา เราคงต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยที่มีการจัดตั้ง “โอสถศาลา” สถานที่จำหน่ายยาให้แก่ราษฎร ในช่วงปีพ.ศ. 2439-2445 เคยมีการตั้งโอสถศาลาในหัวเมืองต่างๆ ขึ้น ได้แก่ หัวเมืองพิษณุโลก เมืองอุตรดิตถ์ เมืองอุทัยธานี เมืองปราจีนบุรี เพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายยาราคาถูกให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง แต่ก็ต้องมีอันยกเลิกไปเนื่องจากรัฐบาลขาดทุนมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2456 จึงได้มีการตั้งโอสถศาลาใหม่ขึ้นในบางจังหวัดเพื่อเป็นสถานที่บำบัดโรคและจำหน่ายยา โดยต่อมาได้พัฒนาเป็น "สุขศาลา" และในเวลาต่อมาก็พัฒนาเป็นสถานีอนามัย เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัย เป็นโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2475 โอสถศาลาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” โดยสุขศาลายังแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ กล่าวคือ ท้องถิ่นใดมีประชากรหนาแน่นทางราชการจะส่งแพทย์ไปประจำเรียกสุขศาลานั้นว่า “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ส่วนสุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำเรียกว่า “สุขศาลาชั้นสอง”  และเมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2485 กรมการแพทย์ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงดังกล่าวได้รับโอน “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ และในบางจังหวัด ไปปรับปรุงขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในขณะที่บางแห่งให้เทศบาลรับไปดำเนินการ ส่วน“สุขศาลาชั้นหนึ่ง “ที่ไม่ได้โอนไปอยู่กับเทศบาลและไม่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลให้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” เหล่านี้จึงพัฒนามาเป็น “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” ในปี พ.ศ. 2497 และได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็น “ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” ในปี พ.ศ.2515 เป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ในปี พ.ศ. 2517 และเป็น “โรงพยาบาลอำเภอ” ในปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน  

สำหรับ “สุขศาลาชั้นสอง” ส่วนใหญ่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” ในปีพ.ศ.2495 และเป็น “สถานีอนามัย” ในปี พ.ศ. 2515 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2551 หลังจากได้มีการผลักดันให้พัฒนาและยกระดับสถานีอนามัยสู่การเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งดำเนินการในระหว่างปีพ.ศ. 2552-2555 อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการของหน่วยบริการสุขภาพระดับตำบลอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3-4 (2515-2524) ซึ่งทำให้เกิดการยกฐานะ “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ขึ้นเป็นโรงพยาบาลอำเภอ พร้อมกับการขยายเป้าหมายให้มีโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ ทั้งนี้อาจมองได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขศาลาชั้นสองหรือสถานีอนามัยในระดับตำบลว่าเป็นการบริการสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้งการคัดกรองคนป่วยก่อนไปยังโรงพยาบาลอำเภอที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์สูงกว่า การดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิจึงถูกจัดให้ไปอยู่ปลายสุดของระบบบริการสุขภาพ ทั้งที่มีความสำคัญต่อผู้คนและใกล้ชิดชุมชนเป็นอย่างมาก

เก็บความจาก

วิชัย โชควิวัฒน, โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), รอยเวลา: เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, 2556

ประคอง แก้วนัย, พัฒนาการสุขศาลาจากอดีตถึงปัจจุบัน, 2552

แหล่งที่มา : ประวัติศาสตร์สุขภาพชุมชน, นิตยสารสุขศาลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ตุลาคม-ธันวาคม 2552

www.nham.or.th/download/31

ขอบคุณภาพ จาก

http://www.hfocus.org/content/2014/04/6940

http://contestwar.com/contest/2354