ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประดิษฐ์เตียงเข็นผู้ป่วยรุ่นออฟ-โรด นวัตกรรมต้นแบบใช้ในพื้นที่ป่าเขา ไม่มีถนน ให้สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนัก ฉุกเฉินในป่า ไปรักษาต่อทางเฮลิคอปเตอร์ หรือรถยนต์อย่างปลอดภัยแทนการใช้เปลผ้าหาม ออกแบบพิเศษล้อกางหุบได้ ทนทาน น้ำหนักเบา มีเข็มขัดล็อคตัวผู้ป่วย 3 จุด เตรียมทดลองใช้ที่สุขศาลาฯ ในเดือนนี้และเตรียมจดลิขสิทธิ์ เผยในปี 2558 สุขศาลาฯ ส่งผู้ป่วยหนัก/ฉุกเฉินรักษาต่อ 100 ราย

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมกรม สบส. เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 โดยมี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยรองอธิบดีและผู้บริหารให้การต้อนรับ 

อธิบดี สบส. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย และพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ของ สบส.ในรอบ 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2559  มีความก้าวหน้าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน พัฒนามาตรฐานบริการของสุขศาลาพระราชทานในสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งตั้งในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล เดินทางยากลำบาก มีทั้งหมด 17 แห่ง ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย โดยมี 15 แห่งที่ไม่มีถนนเข้าถึง เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้เป็นเครือข่ายในระบบบริการสุขภาพ ดูแลนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ฐานะยากจน ซึ่งมีกว่า 50,000 คน ให้ได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานครบถ้วนและใกล้ที่สุด ลดภาระปัญหาการเดินทางของประชาชน

ในปีนี้ สบส. โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ ได้ประดิษฐ์เตียงเข็นผู้ป่วย รุ่นออฟ-โรด เป็นนวัตกรรมต้นแบบ สำหรับใช้ในสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขา ไม่มีถนน ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักหรือป่วยฉุกเฉินจากสุขศาลาพระราชทานไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทางเฮลิคอปเตอร์หรือทางรถยนต์แทนการใช้เปลผ้าหาม ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยกรณีผู้ป่วยบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ประการสำคัญเตียงเข็นชนิดนี้ไม่มีโรงงานใดผลิตจำหน่าย นวัตกรรมเตียงเข็นรุ่นออฟ-โรดนี้ จะเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเร็วขึ้น ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกโรค

เตียงเข็นมีความยาว 1.5 เมตร มี 4 ล้อเพื่อช่วยผ่อนแรงคนเข็น ประกอบด้วยล้อใหญ่คู่หน้า 2 ล้อ ใช้ยางตันเพิ่มความทนทานการใช้งาน และล้อเล็กคู่หลัง 2 ล้อพับเก็บได้เมื่อเข็นผ่านพื้นที่ขรุขระ มีแผ่นกระดานรองตัวผู้ป่วยทำจากไฟเบอร์ยาว 1.9 เมตร น้ำหนักเบา ทนทาน สามารถถอดยกออกจากตัวฐานได้ มีเข็มขัดรัดตัวผู้ป่วย 3 จุดคือที่หน้าอก ลำตัว และขา มีที่ล็อคศีรษะผู้ป่วย มีเสาแขวนน้ำเกลือ เพลาล้อออกแบบเป็นพิเศษ สามารถหุบได้กรณีเข็นผ่านที่แคบ มีเข็มขัดนิรภัย 2 จุดสำหรับล็อคกระดานรองผู้ป่วยกับผู้เคลื่อนย้ายคนหน้าและคนหลังกรณีผ่านพื้นที่เอียงลาดชัน ติดไฟกระพริบสัญญาณพยาบาลสีน้ำเงินด้วย

โดย สบส.จะนำไปทดลองใช้จริงในเดือนนี้ที่สุขศาลาในจังหวัดราชบุรีหรือที่กาญจนบุรี เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบ น้ำหนักเบา มีประสิทธิภาพเหมาะกับสภาพพื้นที่ และจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นจะประกอบให้สุขศาลา 15 แห่งนำไปใช้   

“การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยของสุขศาลาฯ ที่ผ่านมา ต้องใช้คนหามเปลออกมาจากบ้าน หรือหามออกมาจากสุขศาลาฯประมาณ 5-6 คน ในฤดูฝนจะเดินทางยากลำบากที่สุด เช่นที่สุขศาลาฯ บ้านปอหมื้อ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ใช้เวลาเดินมาถนนลูกรังประมาณ 11 ชั่วโมง เตียงเข็นผู้ป่วยรุ่นออฟ-โรดนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานแพทย์ฉุกเฉินในชุมชนแออัด ซึ่งทางเดินแคบๆ ได้ด้วยเพราะล้อหุบขนาดได้ ขณะที่เตียงเข็นผู้ป่วยที่ใช้ทั่วๆไปในขณะนี้หุบไม่ได้” นพ.บุญเรือง กล่าว   

นอกจากนี้ สบส.ได้อบรมพัฒนาศักยภาพครูพยาบาล ตชด.ในการดูแลรักษาพยาบาลขั้นต้น อบรม อสม.ในพื้นที่เพื่อดำเนินการในชุมชน  และนำระบบการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน (Tele medicine) เชื่อมต่อระหว่างสุขศาลาฯกับโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ ด้วยระบบสัญญาณดาวเทียมและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาใช้ประโยชน์ ผู้ป่วยที่สุขศาลาฯได้พบแพทย์เสมือนไปที่โรงพยาบาล แต่ไม่ต้องเดินทางไป  

ผลการพัฒนาในปี 2558 มีผู้ใช้บริการสุขศาลาฯรวม 17,714 ราย เฉลี่ยแห่งละประมาณ 1,100 ราย ส่งรักษาต่อ 100 ราย มากที่สุดที่สุขศาลาฯบ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก 46 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด พบได้ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย รองลงมาคือระบบทางเดินอาหารเช่นอุจจาระร่วงพบร้อยละ 18 พบไข้มาลาเรีย 525 ราย ไข้เลือดออก 5 ราย