ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก 267 ราย จาก 44 ประเทศ แนะให้ทุกประเทศใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายสำคัญอันดับต้นเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ชี้ผลประโยชน์จากการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อประชาชนมีมูลค่าสูงกว่า 10 เท่าของการลงทุน ระบุรัฐบาลทุกประเทศควรลงทุนด้านสุขภาพให้มากขึ้น พร้อมเป็นผู้นำปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อประชาชน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารแลนเซ็ท (Lancet) ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลกฉบับเดือนกันยายน 2558 ได้ตีพิมพ์คำประกาศนักเศรษฐศาสตร์ 267 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลกเสนอให้ทุกประเทศทั่วโลกใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คำประกาศมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

การลงทุนด้านสุขภาพนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนของระบบสุขภาพที่มุ่งไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีคุณค่ามากและมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤติและช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อประมาณการณ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนด้านสุขภาพพบว่ามีมูลค่าสูงมากกว่า 10 เท่าของการลงทุน

ในแต่ละปีมีประชาชน 150 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องกลายเป็นคนจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยป้องกันประชาชนจากความยากจนนี้ได้ ซึ่งยืนยันได้จากผลสำเร็จของประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชากรล้วนดีขึ้น

ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่การเริ่มศึกษา ไปจนถึงการเริ่มต้นนโยบายและการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งทุกประเทศมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งก็จะพบว่าความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ภาครัฐลงทุนไป ทำให้ประเทศมีความสามารถเพิ่มและนำไปสู่การขยายความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพถ้วนมากขึ้น มีการจัดสรรเงินลงทุนด้านสุขภาพเพื่อประชาชนเพิ่มขึ้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ 267 ราย ซึ่งได้ลงนามในคำประกาศดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลทุกประเทศเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพภายในประเทศ และเป็นผู้นำเพื่อปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชน ทั้งนี้ในการพัฒนาด้านการเงินการคลังนั้นจำเป็นต้องระบุประเด็นเรื่องความเท่าเทียมให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพตามกรอบการพัฒนาของสหประชาชาติ และระบุว่า ไม่ว่าประเทศจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากเพียงใดก็ตาม ทรัพยากรต่างๆ ก็จะยังคงมีอยู่จำกัดเสมอ ดังนั้น คุณค่าที่แท้จริงของการพัฒนาสุขภาพ รวมถึงศักยภาพของรัฐบาล และองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในการจัดบริการสุขภาพที่จำเป็น จึงอยู่ที่ระดับความมุ่งมั่นในการลงทุนด้านสุขภาพของรัฐบาลสำหรับการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคนทุกคน ดังที่ท่าน ศ.อมรรตยะ เสน ได้เขียนถึงโอกาสของการพัฒนาสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า เป็น “ความฝันที่สามารถซื้อหาได้” (The affordable dream)

ทั้งนี้รายชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ เช่น ศ.โจเซฟ สติกลิตซ์ (Prof. Joseph E. Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล, ศ.วิลเลียม เชา (Prof. William Hsiao) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังสุขภาพและประกันสุขภาพ และ ศ.ลอเรนซ์ เอช ซัมเมอร์ (Prof. Lawrence H. Summers) อดีต รมว.การคลังของสหรัฐฯ และเคยเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรทำและมีต้องเร่งสร้างความสามารถที่จะทำได้ด้วย