ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

6 หน่วยงานจับมือสนับสนุนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ด้านสุขภาพ” ตรวจสายตาเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เผยสำรวจพบเด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1 คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคน เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ

วันที่ 21 ธันวาคม 2558 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมพัฒนาสุขภาพนักเรียน “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้านสุขภาพ” สร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานโดยมีบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คนพร้อมเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันใน 6 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือพัฒนาสุขภาพเด็กวัยเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ รร.แอมบาสเดอร์ กทม.

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ลดความเคร่งเครียดจากการเรียนเนื้อหา มาเป็นกิจกรรมกลุ่มสร้างสรรค์สนุกสนาน เสริมสร้างทักษะด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขร่วมสนับสนุนนโยบายนี้ โดยสั่งการให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับดำเนินการดังนี้ 

1.สนับสนุนการจัดกิจกรรม “เพิ่มเวลารู้” ของสถานศึกษาในพื้นที่ 

2.เตรียมเด็กวัยเรียนให้พร้อมเรียนรู้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนโดยร่วมกับทางโรงเรียนตรวจคัดกรองสายตาและส่งต่อแก้ไขหากพบความผิดปกติ 

3.จัดกิจกรรมบนฐานของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” แต่ละช่วงวัยหรือช่วงชั้นเรียน 

4.ให้ความสำคัญกับการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ภาระโรคและปัจจัยเสี่ยง เน้นก่อให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ ทักษะการมีสุขภาพและชีวิตที่ดีสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ ดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนปัญหาสุขภาพและต้นทุนทางสังคมในพื้นที่

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเด็กไทยพบปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับที่เด็กใช้สายตาผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลมากขึ้น การรับแสงและการเพ่งมองจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาเมื่อยล้าหรืออาจทำให้จอตาเสื่อมไวขึ้น และนำไปสู่ภาวะตาบอดหรือตาเลือนรางได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา เพราะสายตาและการมองเห็นคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการจดจำคิดและสร้างสรรค์ จนกลายเป็นการเรียนรู้ความฉลาดและนำไปสู่พัฒนาการด้านอื่นตามมา ข้อมูลจากการสำรวจโดยครูในเด็กก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในโรงเรียน 17 แห่งในปี 2555 พบสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1 คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคน เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องสายตาจึงจัดทำ “โครงการเด็กไทยสายตาดี” พัฒนาสุขภาพเด็กนักเรียนในเรื่องสายตาและการมองเห็น “ยิ่งเด็กได้เห็นเด็กยิ่งได้เรียนรู้” โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการตรวจวัดสายตานักเรียน และแก้ไขความผิดปกติอย่างเหมาะสมทันเวลา ลดความชุกของภาวะตาบอดในเด็กไทย และเด็กนักเรียนมีความพร้อมเรียนรู้ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้”