ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมมือกับเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 148 แห่ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่ การใช้บริการที่ รพ. เดินหน้า 3 ยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วม คุ้มครองสิทธิรับบริการ สู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมยกระดับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 94 แห่ง

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เป็นหนึ่งในรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับชั้น ที่นำไปสู่ความเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพ การประสานความร่วมมือเครือข่ายองค์กรภาคีระดับพื้นที่เพื่อติดตามและพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นับเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบาย “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมกัน

ที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2548 จากที่ดำเนินการ 29 ศูนย์ ในพื้นที่ 21 จังหวัด จนถึงปี 2558 ที่มีศูนย์ประสานงานฯ 148 ศูนย์ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นพ.รัฐพล กล่าวว่า สำหรับในปี 259 นี้ศูนย์ประสานงานฯ ได้ดำเนินงานภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การพัฒนาศักยภาพของศูนย์ประสานงานฯ เพื่อร่วมพัฒนาและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย 2.การคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ 3.การสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงภาคี เครือข่ายประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ สปสช.ส่วนกลาง/เขต ในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และจากการพัฒนาศูนย์ประสานงานฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีศูนย์ประสานงานฯ ที่ได้รับขึ้นทะเบียน “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน” ตามมาตรา 50(5) จำนวน 94 แห่ง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญการคุ้มครองสิทธิประชาชนและนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ช่วง 11 ปี ของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเข้าใจ รับรู้การเข้าถึงสิทธิเมื่อเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ รวมไปถึงคุ้มครองกรณีไม่ได้รับความสะดวกที่เป็นปัญหาอุปสรรค จึงนับเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพมาตรฐาน ติดตามและพัฒนาระบบ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดความเชื่อมโยงภาคีด้านสุขภาพในพื้นที่ต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีศูนย์ประสานงานเป็นกลไกสำคัญ” นพ.รัฐพล กล่าว