ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้กระแสความงามทั่วโลกฮิตพึ่งการฉีดเพิ่มขึ้น เผยผลการควบคุมมาตรฐานคลินิกเสริมความงาม ในปี 2558 ดำเนินคดีรวม 95 คดี ข้อหาฝ่าฝืนการโฆษณา ย้ำเตือนคลินิกทุกแห่งห้ามใช้ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ทำเลเซอร์ผิว มิฉะนั้นจะเข้าข่ายหมอเถื่อน พร้อมทั้งเตรียมเรียกสอบ เอาโทษคลินิกชื่อดังในย่าน กทม.และปริมณฑล ฝ่าฝืนกฎหมายสถานพยาบาล โฆษณาใช้คำโอ้อวดสรรพคุณทางเว็บไซต์ จัดโปรหน้าใสให้นักศึกษา เปลี่ยนหน้าหมองให้น่ามองดุจดาวเดือน จัดหน้าใสในราคาเบาๆ และหากพบแห่งใดกระทำผิดซ้ำซาก จะพิจารณาโทษให้หนักขึ้น เช่น ปิดสถานพยาบาล            

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 พ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดมหกรรม “คอนเสิร์ต สวยใส มั่นใจ สบส.” ครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จ.ปทุมธานี เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจกลุ่มนักศึกษา รู้เท่าทันการโฆษณาการเสริมความงาม รู้ทันภัยคลินิกเถื่อน หมอเถื่อนและรู้จักวิธีเลือกสถานพยาบาลที่ถูกกฎหมาย

นพ.ภานุวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ความนิยมด้านสุขภาพและการเสริมความงามเป็นกระแสที่วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุทั้งไทยและเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก จากสถิติรายงานของสมาคมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งแห่งสหรัฐอเมริกา ในปี 2557 ทั่วโลกมีผู้ใช้บริการศัลยกรรมตกแต่งและความงามรวม 15 ล้านกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ร้อยละ 111 ที่มีจำนวน 7 ล้านกว่าคน โดยร้อยละ 90 หรือเกือบ 14 ล้านคน เป็นการเสริมความงามโดยวิธีไม่ต้องทำผ่าตัด เพิ่มจากปี 2543 ถึงร้อยละ 154 อันดับ 1 ได้แก่การฉีดโบท็อกซ์ ประมาณ 6 ล้านกว่าคน รองลงมาคือ ฉีดฟิลเลอร์ 2 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการเสริมความงามโดยวิธีผ่าตัดในปี 2557 มีจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าคน ลดลงกว่าปี 2543 ร้อยละ 12 

ขณะนี้ สบส.ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภา ควบคุมมาตรฐานคลินิก สถานพยาบาลที่มี 1,458 แห่งทั่วประเทศ และมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาจำนวน  490 คน ผลการดำเนินการในปี 2558 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์จำนวน 341 เรื่อง ในจำนวนนี้เกี่ยวกับสถานเสริมความงาม 150 เรื่อง เช่น จมูกเบี้ยว สันจมูกเอียง แผลอักเสบหลังดูดไขมัน เป็นต้น และดำเนินคดีคลินิกเสริมความงามที่ฝ่าฝืนการโฆษณา 95 คดี  

“ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาในการเสริมความงามของไทยที่พบในขณะนี้มี 2 เรื่องหลัก คือด้านผู้ให้บริการและการโฆษณา โดยเฉพาะการทำเลเซอร์ ซึ่งพบว่าผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพนักงานอื่นๆ ที่ใช้เครื่องมือเป็น และมักจะเป็นคลินิกมากกว่าโรงพยาบาล จึงขอย้ำเตือนคลินิกต่างๆ แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนถูกต้องจาก สบส.แล้วก็ตาม แต่หากใช้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่แพทย์ จะถือว่าเข้าข่ายหมอเถื่อน มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 34 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 35 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้รับอนุญาตต้องร่วมรับผิดด้วย” รองอธิบดีกรม สบส. กล่าว        

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการโฆษณาจะพบมากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งตามกฎหมายห้ามสถานพยาบาล
ทุกแห่ง โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณการรักษา เช่น อยากสวย สวยที่.. ใช้อุปกรณ์นำสมัย สวยเหมือนธรรมชาติหรือลดแลกแจกแถม จากการตรวจสอบเว็บไซต์ขณะนี้ พบคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งมี 4 สาขาทั้งใน กทม.และปริมณฑล โฆษณาทางเน็ตในเฟชบุ๊ซ โดยโฆษณาลด แลก แจก แถม เช่นแถมที่พัก แถมกระเป๋า หรือมีโบนัสรักษาหน้า การใช้คำโฆษณาว่า “หน้าใสสำหรับนักศึกษา” หรือคำว่า “เปลี่ยนหน้าหมองให้น่ามองดุจดาวเดือน” “ให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลด” เป็นต้น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

สบส.จะให้กองกฎหมายเรียกผู้รับอนุญาตคลินิกแห่งนี้มาสอบสวน ดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะยุติการโฆษณา และหากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีก อาจพิจารณาโทษให้หนักขึ้น เช่น ปิดสถานพยาบาลเป็นต้น ในรอบ 3 เดือนมานี้ดำเนินคดีเฉลี่ยเดือนละ 10 ราย   

ด้านนายเพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมมหกรรมคอนเสิร์ตในครั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสถานศึกษา ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่นักศึกษา เพื่อป้องกันตนเองจากภัยของการเสริมความงาม เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม นำไปสู่ความสวย หล่อ ตามที่มุ่งหวังไว้

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการจัดมหกรรมคอนเสิร์ต สวย ใสฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 คน และนักศึกษาให้ข้อเสนอแนะว่าเป็นการจัดกิจกรรมวิชาการในรูปแบบใหม่ที่ตรงกับความต้องการ คือ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้เป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจเรื่องการเสริมความงามดีขึ้น โดยร้อยละ 80 ตอบว่าปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในอาชีพ ประกอบด้วยความรู้ ความสามารถและความงาม นักศึกษาร้อยละ 95 ยังไม่เคยทำการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมความงาม และหากมีโอกาสทำ ร้อยละ 80 จะทำที่ใบหน้า