ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เน้นย้ำประชาชนทุกสิทธิประกันสุขภาพ ที่ใช้บริการเสริมความงาม หากเกิดปัญหาหลังทำ เช่น แผลเน่า อักเสบ ติดเชื้อ จะต้องจ่ายค่ารักษาเอง เนื่องจากสิทธิประโยชน์จากกองทุนสุขภาพ ทั้ง 30 บาท ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รวมถึงต่างด้าว ไม่คุ้มครอง เพราะการเสริมความงามไม่ใช่การเจ็บป่วย หรือไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ย้ำเตือนวัยรุ่น อย่าเร่งสวย หล่อเพราะมีดหมอ ไม่ควรเสริมจมูก ทำหน้าวีเชฟก่อนถึงวัยเหมาะสม

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดมหกรรม “คอนเสิร์ต สวยใส มั่นใจ สบส.” ครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อรณรงค์กลุ่มนักศึกษาทั้งหญิงและชาย รู้เท่าทันภัยอันตรายการเสริมความงามจากสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน และรู้จักวิธีการเลือกสถานพยาบาลที่ปลอดภัย รวมทั้งให้นักศึกษาเป็นเครือข่ายสังคมแจ้งเบาะแส หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดกฎหมาย เพื่อกวาดล้างให้หมดไปจากประเทศ สร้างมาตรฐานชื่อเสียงด้านบริการเสริมความงามของไทยให้เป็นที่เชื่อมั่นยอมรับ สามารถสร้างเศรษฐกิจรายได้เข้าประเทศเนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีอัตราเติบโตปีละประมาณ 10 %

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สบส.ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชน ได้เร่งคุ้มครองความปลอดภัยบริการการเสริมความงาม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งคนไทยและต่างประเทศให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดทั้งสถานที่ บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ และให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการใช้บริการอย่างปลอดภัย ไม่มีผลกระทบตามภายหลัง

ซึ่งการผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมจากคนไทยมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ การผ่าตัดตาสองชั้น รองลงมา คือ เสริมจมูก เสริมเต้านม ดึงหน้า และดูดไขมัน โดยการผ่าตัดแต่ละประเภทต้องคำนึงถึงอายุที่เหมาะสมด้วย เช่น ผ่าตัดเสริมจมูกจะทำได้ในช่วงวัยที่จมูกพัฒนาเต็มที่แล้ว ผู้หญิงอายุ 13-14 ปี ผู้ชายอายุ 15-16 ปี การเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนควรทำเมื่อร่างกายเติบโตเต็มที่แล้ว คืออายุ 22 ปีขึ้นไป การผ่าตัดที่ไม่เหมาะกับวัยรุ่นชาย หญิง ได้แก่ การเสริมแก้ม การเสริมคาง เหลากราม ทำหน้าเรียว หรือที่เรียกว่า วีเชฟ เนื่องจากโครงสร้างของใบหน้ายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก โดยคางของผู้หญิงจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 18 ปี ส่วนผู้ชายอายุ 21 ปี หากทำก่อนถึงวัยอาจทำให้ใบหน้าเบี้ยวผิดรูปได้ จากการสอบถามนักศึกษาที่เข้าร่วมงาน 4 ครั้ง ที่ผ่านมาพบว่า หากมีโอกาสทำศัลยกรรมจะเลือกทำที่ใบหน้า อันดับ 1 คือ จมูก รองลงมา คือ เสริมคาง และทำตาสองชั้น 

“การผ่าตัดเสริมความงามทั้งหมดไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้งโครงการ 30 บาท ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รวมถึงหลักประกันสุขภาพของต่างด้าวด้วย ดังนั้นหากหลังทำเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ 
ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาจากกองทุนที่กล่าวมา เนื่องจากการผ่าตัดเสริมความงามไม่ใช่การเจ็บป่วย และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่ทำต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาเอง 100 % ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเลือกรับบริการจากสถานพยาบาลและคลินิกที่ถูกกฎหมายที่ขึ้นทะเบียน
กับกระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น” อธิบดี สบส.กล่าว

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า วิธีสังเกตสถานพยาบาล หรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน จะต้องปรากฏหลักฐาน 5 ประการ ดังนี้  1.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต 13 หลักติดอยู่ที่หน้าสถานพยาบาล 2.มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และดำเนินการสถานพยาบาลที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข 3.มีป้ายชื่อ สกุล รูปถ่ายของแพทย์ที่ตรวจรักษา พร้อมใบอนุญาตติดหน้าห้องตรวจ โดยรูปตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้น 4.มีหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีนั้นๆ และ 5.ต้องแสดงอัตราค่ารักษา ประชาชนสามารถสอบถามราคาได้  หากไม่มีหลักฐานที่กล่าวมาหรือมีแต่ไม่ครบถ้วน ไม่ควรใช้บริการ และให้แจ้งที่เฟชบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 02 -193-7999 ซึ่ง สบส.จะเร่งตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมายทันที

ด้าน รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “มหกรรมคอนเสิร์ต สวย ใส ปลอดภัย มั่นใจ สบส.” เป็นการกระตุ้นให้นักศึกษา มีข้อมูลอย่างเพียงพอ และมีค่านิยมให้คุณค่าในเรื่องของความรู้ ความสามารถ และการดูแลสุขภาพตนเองให้สวยอย่างธรรมชาติ ไม่คิดพึ่งพาการผ่าตัดเสริมความงาม เพียงอย่างเดียว