ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเด็นสำคัญ:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2559 โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่พึ่งพารายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นหลัก น่าจะมีสัญญาณการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากกำลังซื้อของลูกค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งสวนทางกับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองอาจจะหันไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า หรือเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ หรือแม้แต่การหาซื้อยามารับประทานเอง

อย่างไรก็ดี จากกระแสใส่ใจดูแลสุขภาพและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าหันมาบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยการซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ประกอบกับการขยายขอบเขตการให้สิทธิในการรักษาพยาบาลทั้งจากกลุ่มข้าราชการและประกันสังคม จึงกลายเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มดังกล่าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้า แนวโน้มการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเปลี่ยนแปลงจากการเน้นชูกลยุทธ์ทางด้านการรักษาอาการเจ็บป่วยไปสู่การให้บริการดูแลสุขภาพที่ครบวงจรมากขึ้น อาทิ การให้ความรู้ด้านโภชนาการอาหารและการออกกำลังกาย รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2559 ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สวนทางกับแนวโน้มอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ความรุนแรงหรือความซับซ้อนของโรค ต้นทุนค่าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เป็นปัจจัยท้าทายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปีนี้ เนื่องจากรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมยังคงพึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของรายได้รวมทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายดังกล่าวส่งผลให้คนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองมีแนวโน้มหันไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า หรือเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ หรือแม้แต่การหาซื้อยามารับประทานเอง   ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพาสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยและเน้นจับตลาดชนชั้นกลางเป็นหลักคงต้องหันมาใช้กลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก รวมถึงกลุ่มลูกค้าข้าราชการและกลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวนับว่าเป็นกลุ่มที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างแน่นอน แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลบางส่วนที่ลูกค้าต้องรับผิดชอบเองในกรณีที่สิทธิที่ได้รับไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่ากลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทและเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

1) กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน

“จากกระแสการใส่ใจดูแลสุขภาพที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงขึ้น ทำให้ลูกค้าหันมาบริหารความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย โดยการซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มขึ้น”

ซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าเบี้ยประกันสุขภาพรับโดยตรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 13.2 (CAGR 2554-2558) และในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เบี้ยประกันสุขภาพรับโดยตรงจะมีมูลค่าประมาณ 58,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.4 (YoY)

โดยกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพที่น่าสนใจ ได้แก่

- กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ Aging Society และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยคาดว่าจำนวนผู้สูงอายุคนไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคน (ร้อยละ 8.9 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2553 เป็น 9.0 ล้านคน (ร้อยละ 12.3) ในปี 2563

- กลุ่มลูกค้าเด็ก จากขนาดของครอบครัวที่เล็กลงเฉลี่ย 3 คนต่อครอบครัว และมีบุตรเฉลี่ย 1 คนต่อครอบครัว ทำให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญในการดูแลบุตรหลาน ซึ่งเรื่องสุขภาพก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญ และใส่ใจกับการทำประกันสุขภาพให้กับบุตรหลานมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน พบว่า ส่วนของรายได้ที่มาจากประกันสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นโอกาสในการสร้างรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

2) กลุ่มลูกค้าข้าราชการและประกันสังคม

 “การขยายสิทธิในการรักษาพยาบาลไปยังโรงพยาบาลเอกชน เพื่อต้องการเพิ่มช่องทางให้ผู้มีสิทธิได้รับความรวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น และลดการกระจุกตัวของการเข้าใช้บริการภายในโรงพยาบาลรัฐ นับเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาลเอกชน”           

โดยจะเห็นได้จากอัตราการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนของผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมสูงกว่าการเข้าใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐมาโดยตลอด แม้ว่าจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการลูกค้าประกันสังคมมีเพียง 84 แห่ง น้อยกว่าโรงพยาบาลรัฐที่มีจำนวน 157 แห่ง สะท้อนถึงความต้องการของผู้ใช้สิทธิฯ ที่ต้องการความสะดวกในการเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็เป็นอีกโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าข้าราชการเริ่มได้รับการขยายสิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งในระยะข้างหน้า หากกรมบัญชีกลางมีการขยายสิทธิการรักษาพยาบาลไปยังโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นเพื่อช่วยลดความหนาแน่นของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ก็จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของโรงพยาบาลเอกชนในการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว อาจจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะมีผลต่อภาพโดยรวมของธุรกิจ อีกทั้งควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหรือรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่ไม่ครอบคลุมสิทธิประกันสุขภาพที่ได้รับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ และเกิดความเข้าใจที่ตรงกันก่อนเข้ารับการรักษาหรือใช้บริการทางการแพทย์

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โรงพยาบาลที่พึ่งพารายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยในสัดส่วนที่สูงนั้น แม้ว่าจะเผชิญแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อประชาชนที่ลดลง แต่ก็ยังเห็นโอกาสจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเงินสด (รวมประกันสุขภาพ) กลุ่มข้าราชการและประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 57 ของค่ารักษาพยาบาลโดยรวม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2559 ค่ารักษาพยาบาลของคนไทยโดยรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 344,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 332,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การเลือกใช้บริการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งอาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก อาทิ คุณภาพและมาตรฐานในการรักษา หรือความสะดวกสบายในการเข้ารักษาทั้งในเรื่องของการเดินทางและการรอพบแพทย์

ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนแต่ละรายจะต้องชูกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสม เช่น หากต้องการจับตลาดลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือเด็ก ก็อาจจะต้องเสริมทีมและชูจุดเด่นความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ หรือหากต้องการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ นอกจากจะชูในเรื่องของการอำนวยความสะดวกแล้ว อาจจะต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินที่คนไข้ต้องจ่ายเพิ่มในกรณีที่ไม่ครอบคลุมสิทธิ เป็นต้น

- การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน จากแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่างมีการปรับตัวเพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำลง ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการต้นทุนมีดังนี้

- ขยายการลงทุนทั้งในรูปแบบของการสร้างสาขาใหม่หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยการปรับตัวดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่แล้ว ในแง่ของการบริหารต้นทุนยังก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ไม่ว่าจะเป็นจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในราคาที่ถูกลง รวมถึงการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น teleconference เป็นต้น ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบได้มากขึ้น

- การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ อาทิ การนำระบบการจ่ายยาอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การทำ Application บริการนัดหมายคนไข้ล่วงหน้า หรือติดตามคนไข้ให้มาตรวจสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรกของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอาจจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจสูงขึ้น แต่ในระยะยาว ก็อาจจะช่วยลดปัญหาในด้านการบริหารจัดการและช่วยลดภาระต้นทุนลงได้

แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน... ต่อยอดจากการรักษาไปสู่การดูแลสุขภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้จากการขยายฐานลูกค้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในระยะข้างหน้า แนวโน้มการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเปลี่ยนแปลงจากการเน้นชูกลยุทธ์ทางด้านการรักษาอาการเจ็บป่วยไปสู่การให้บริการดูแลสุขภาพที่ครบวงจรมากขึ้น จากกระแสการใส่ใจดูแลสุขภาพของคนไทยที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าน่าจะจูงใจให้โรงพยาบาลเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับกระแสดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มบริการต่างๆ ที่เน้นดูแลสุขภาพให้กับลูกค้า อาทิ

- ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้อัตราการพึ่งพิงวัยแรงงานของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สัญญาณดังกล่าวสวนทางกับการดำเนินชีวิตของบุตรหลานในสังคมยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวน้อยลง อีกทั้งผู้สูงอายุบางคนจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงทำให้บุตรหลานหรือแม้แต่ผู้สูงอายุเองหันไปใช้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

- การเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์ Trend สุขภาพ ได้แก่

- การให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีกลุ่มคนจำนวนมากหันมาดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง โดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร แต่ในจำนวนกลุ่มคนดังกล่าว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างผิดวิธี บางรายหักโหมในการออกกำลังกายมากเกินไป บางรายอดอาหาร ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย

ดังนั้น หากโรงพยาบาลเอกชนมีการขยายการให้บริการดังกล่าว มีการจัดทีมแพทย์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว อาทิ นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ก็จะสามารถรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากคำแนะนำจากแพทย์ หรือผู้ที่มีความชำนาญการเฉพาะด้าน น่าจะได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้ามากขึ้น

- ความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ในการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพมากขึ้น อาทิ ธุรกิจนวดและสปา ธุรกิจผลิตภัณฑ์และอาหารเสริม ซึ่งน่าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล ทั้งอาหารที่เหมาะสำหรับคนไข้ รวมถึงโอกาสที่จะขยายตลาดรองรับญาติหรือผู้ติดตาม หรือแม้แต่การขยายฐานลูกค้าสุขภาพอื่นๆ นอกโรงพยาบาล ซึ่งต่อไปในอนาคต เชื่อว่าผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจในเรื่องของโภชนาการทางด้านอาหารที่ดีกับสุขภาพกันมากขึ้น         

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2559 รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากลูกค้าคนไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะที่จับกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางอาจจะเผชิญกับประเด็นด้านกำลังซื้อและการแข่งขันที่รุนแรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลก็ยังคงได้รับแรงหนุนจากการขยายการลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการควบรวมกิจการและการเปิดสาขาโรงพยาบาลแห่งใหม่ รวมถึงอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ ความซับซ้อนของโรค การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาที่ทันสมัยขึ้น เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ในปี 2559 การเติบโตของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลกลุ่มดังกล่าวยังคงขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-8 (YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้า (ปี 2556-2557) ที่ขยายตัวได้ราวร้อยละ 10.0 (YoY) และต่ำกว่าภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10-12 (YoY)

ดังนั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยอาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโตของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตำแหน่งธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าตลาดบนและกลุ่มลูกค้าต่างชาติ หรือการมุ่งไปสู่ลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์ใด ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปรับตัวดังกล่าวให้เหมาะสม