ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ชี้แรงงานมากกว่า 1 ใน 11 ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 32.4 รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 21.1 และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ร้อยละ 18.7 ชูนโยบายลดโรค เพิ่มสุข แนะผู้ประกอบการร่วมโครงการสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข 

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข พร้อมมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่สถานประกอบการที่ผ่านการประเมินระดับประเทศ 68 แห่ง

นพ.อำนวย กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดประมาณว่าประเทศไทยมีประชากรที่มีงานทำ 38.3 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันคนวัยทำงานต้องรับหน้าที่ในการดูแลคนในครอบครัวหรือผู้พึ่งพิง ทั้งเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งหากประชากรในวัยทำงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจะมีผลกระทบต่อครอบครัว และสังคมได้ โดยข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่าวัยแรงงานมากกว่า 1 ใน 11 เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 32.4 รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 21.1 และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ร้อยละ 18.7  

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ดำเนินโครงการวัยทำงานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข ภายใต้นโยบาย ลดโรค เพิ่มสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรวัยทำงานมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปลอดภัยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีสุขภาพจิตที่ดี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในการจัดทำเกณฑ์ “สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข"

ซึ่งในปี 2557-2558 มีสถานประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นจำนวน 1,574 แห่ง และมีสถานประกอบการฯ ที่ดำเนินการผ่านเกณฑ์จำนวน 307 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของจำนวนที่เข้าร่วมทั้งหมด ทั้งนี้ สาเหตุที่สถานประกอบการฯ ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินเนื่องมาจาก ขาดการนำข้อมูลผลลัพธ์ด้านสุขภาพของพนักงานในองค์กร เช่น ผลตรวจสุขภาพประจำปี สถิติการเจ็บป่วย/ลาป่วย มาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่วางแผนการดำเนินงานเฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน และขาดนโยบายด้านการส่งเสริมโภชนาการ เช่น การกำหนดข้อตกลงอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพขององค์กร การรณรงค์ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เป็นต้น นอกจากนี้สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดเรื่องการส่งเสริมป้องกันปัญหาด้านสุขภาพและการสร้างคุณค่าของพนักงานและครอบครัวด้วย

สำหรับสถานประกอบการฯ ที่ผ่านการประเมินระดับประเทศและได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ มีจำนวน 68 แห่ง แบ่งเป็นระดับดี (โล่เงิน) 38 แห่ง และระดับดีเด่น (โล่ทอง) 30 แห่ง ยกตัวอย่าง สถานประกอบการที่ได้รับรางวัล เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์กระจายสินค้า RDC จังหวัดลำพูน เป็นองค์กรที่มีการบริการจัดการที่ดีส่งผลให้พนักงานปราศจากการบาดเจ็บทางกายหรือทางใจทั้งในงานและนอกงาน และตัวอย่างอีกแห่ง ได้แก่ บริษัท แปซิฟิค แปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด จังหวัดสงขลา เป็นองค์กรที่มีการเน้นให้พนักงานและชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายขององค์กรให้ครอบคลุมในประเด็นปลอดโรค ปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และสุขภาพจิต เป็นต้น 

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิชาการจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-13 สุขภาพจิต ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลและนักวิชาการจากกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต รวมถึงผู้ประกอบการจากสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน  ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ และเครือข่าย พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพให้แก่เครือข่ายในการดำเนินงานโครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422