ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบนโยบาย ระบบ และแนวทางปฏิบัติ และแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 โดยจะนำแผนปฏิบัติการเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ตั้งเป้าหมายออกกฎหมายลูกรองรับให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน เพิ่มความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในประเทศไทย 

วันนี้ (7 มีนาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อ ร่างและแผนปฏิบัติการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ จำนวน 30 แผนปฏิบัติการ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ (คกก.) โรคติดต่อจังหวัด และ คกก.โรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ได้ประกาศใช้แทนฉบับเก่า พ.ศ.2523 ที่ใช้มานานกว่า 30 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 

โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ได้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อรุนแรงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคอุบัติซ้ำ เช่น วัณโรค มาลาเรีย ไข้เลือดออก เป็นต้น โดยจะนำแผนปฏิบัติการดังกล่าว เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ 

1.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ  

2.ร่างประกาศ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของ คกก.โรคติดต่อจังหวัดและคกก.โรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 

3.ร่างประกาศ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะทำให้มีคณะกรรมการเชื่อมโยงทั้งระดับชาติ จังหวัดและกรุงเทพมหานคร และหน่วยปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในอำเภอและจังหวัด อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

และ 4.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายอันเกิดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือควบคุมโรคติดต่อ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และให้นำข้อสังเกตจากคกก.ไปปรับยกร่างเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมควบคุมโรคออกกฎหมายลูกร้อยละ 90 ภายใน 3 เดือน และเสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 6 เดือน เพื่อให้การดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดต่ออันตรายและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นโยบายในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.เร่งรัดการกำจัดและกวาดล้างโรคที่เป็นพันธะสัญญากับนานาชาติ และโรคที่ไทยสามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่งแล้ว 7 โรค ได้แก่ โปลิโอ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า เอดส์ โรคเรื้อน มาลาเรียและโรคเท้าช้าง 

2.พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่ไม่มีในประเทศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อลดโอกาสการระบาดในประเทศให้เหลือน้อยที่สุด เช่นโรคเมอร์ส อีโบลา 

3.ควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น 14 โรค เช่น โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคจากสัตว์สู่คน เป็นต้น ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะประชาชนให้น้อยที่สุด

และ 4.ลดการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคติดต่อทุกชนิด

ในการดำเนินงานมี 4 ระบบ คือ ระบบป้องกันโรค ระบบตรวจจับ ระบบควบคุมโรค และระบบสนับสนุนบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบงานควบคุมโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาทุกจังหวัดให้สามารถดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยต่างๆ รวมทั้งโรคติดต่ออันตรายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ มีทั้งหมด 60 มาตรา 9 หมวด มีสาระสำคัญให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติและเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ให้สามารถจัดการภัยสุขภาพได้ทันการณ์ สร้างระบบเตรียมพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่ออุบัติใหม่ของโลก ลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เว็บไซต์กรมควบคุมโรค และสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422