ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน จากผลงานในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ใช้ความสามารถการสื่อสาร 6 ภาษา คนแรกของประเทศ สร้างระบบการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ความรู้ต่างด้าวทุกกลุ่ม เป็นที่ปรึกษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบบตัวต่อตัว เข้าถึงยาต่อเนื่อง และดูแลกลุ่มเด็กกำพร้ามีที่พึ่งพิง จัดล่ามภาษาถิ่น 4 ภาษา เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยกับต่างด้าว โดยจะเข้ารับรางวัลเนื่องในวัน อสม.แห่งชาติ วันที่ 18 มีนาคม 2559 นี้ 

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะจัดงานเนื่องในวัน อสม.แห่งชาติประจำปี 2559 นี้ ในวันที่ 18 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายในงานจะมีพิธีรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ สำหรับ อสม.ดีเยี่ยมอย่างยิ่ง อสม.ดีเยี่ยมและ อสม.ดีเด่นระดับชาติปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 2558 พิธีรับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้องค์กร อสม.สร้างสุขภาพดีเด่นระดับเขต การมอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ ระดับภาค ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด รวมทั้ง อสม.กทม. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ จำนวน 10 สาขา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ อสม.ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีประจำทุกหมู่บ้าน รวม 1,047,800 คน โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีอสม.ร่วมงานประมาณ 1,500 คน 

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับ อสม.ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติ ในปี 2559 นี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเข้าสู่สังคมอาเซียน จะมีทั้งหมด 10 สาขาและสาขาปฏิบัติงานพื้นที่พิเศษชายแดนใต้ รวม 15 คน หนึ่งในนั้นเป็น อสม.ที่สามารถสื่อสารได้ 6 ภาษา ได้รับรางวัลสาขาป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชนคนแรกของประเทศ ได้แก่ นางเมี๊ยะ อายุ 49 ปี เป็น อสม.นาน 14 ปี ดูแลหมู่ 1 ตำบลหนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า มีคนอาศัยร่วมกันในชุมชนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้แก่ คนไทย มอญ พม่า กะเหรี่ยง คนย้ายถิ่น มุสลิม จำนวน 16,134 คน

นอกจากนี้มีแรงงานพม่าเดินทางเข้ามาทำงานผ่านทางหมู่บ้านพระเจดีย์สามองค์ ต.หลองลู เช้าไป เย็นกลับ วันละประมาณ 4,000 คน และมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีฐานะยากจน เคลื่อนย้ายเข้า-ออกฝั่งไทยตลอดเวลา ตั้งครรภ์โดยไม่คุมกำเนิด เนื่องจากขาดความรู้ในการป้องกันและมักจะปกปิดผลเลือดกับคู่แต่งงาน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ครอบครัว จึงยากต่อการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกับเจ้าหน้าที่ได้ ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงเข้าถึงยาและบริการสุขภาพที่จำเป็น 

ในการดำเนินงานของ อสม.เมี๊ยะ ได้ใช้ศักยภาพของตนเองที่มีความสามารถพูดได้ 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ พม่า มอญ กะเหรี่ยง ฝรั่งเศส และไทย สื่อสารกับประชากรทุกกลุ่ม ให้เกิดความเข้าใจ ความไว้วางใจ ใช้กลยุทธ์ดำเนินการ 4 กลุ่ม ได้แก่ การป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มคนทั่วไป กลุ่มที่มีความเสี่ยงและเข้าถึงยาก เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้ขายบริการ วัยรุ่น โดยการสร้างจิตอาสาแกนนำชุมชน ถ่ายทอดความรู้เรื่องเอดส์เข้าสู่กลุ่มย่อยๆ ทั้งนักเรียน กลุ่มสตรี ผู้นำชุมชน ครูในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยจัดทำคู่มือภาษาถิ่นเป็นแนวทางทำงานแบบเดียวกัน

การตั้งจุดกระจายถุงยางอนามัยในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก รพ.สังขละบุรีและหน่วยงานเอ็นจีโอ เริ่มในช่วงปลายปี 2557 ที่ต.หนองลู และโรงงานที่หมู่บ้านพระเจดีย์สามองค์ รวม 13 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและมีการใช้ 100 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และตั้งทีมจิตอาสาให้ความรู้ ตรวจสอบ และเติมถุงยางอนามัยทุกวัน ขณะนี้ใช้ไปแล้วกว่า 1,000 ชิ้น และอยู่ระหว่างขยายสู่พื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น 

ในกลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ ที่มี 75 คน เน้นให้คำปรึกษาแบบใกล้ชิดตัวต่อตัว เพื่อให้รู้ปัญหาชัดเจน เกิดความไว้วางใจ ค้นหาทางเลือกแก้ปัญหาด้วยตนเอง เน้นป้องกันการขาดยา รวมทั้งสร้างกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หนุนการสร้างกำลังใจและเศรษฐกิจ โดยตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ขณะนี้มีสมาชิก 15 คน มีเงินออม 11,000 บาท และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ โดยเฉพาะเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ให้มีอนาคต มีที่พักพิงดูแล ขณะเดียวกันได้ตั้งกลุ่มล่ามจิตอาสา แปลภาษาถิ่น 4 ภาษา ได้แก่ พม่า มอญ กะเหรี่ยง และอังกฤษ สนับสนุนการทำงานร่วมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในคลินิกให้ยาต้านไวรัส และขณะลงไปเยี่ยมบ้านผู้ติดเชื้อ เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจการปฏิบัติของผู้ติดเชื้อดียิ่งขึ้น