ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ – สมาคมประกันวินาศภัยไทยปลื้ม สภาปฏิรูปเศรษฐกิจแห่งชาติ รับหลักการตามข้อเสนอของสมาคมฯ 2 ส่วน 1.เอกชนร่วมบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 2.ประชาชนที่มีสิทธิประกันสังคม หรือบัตรทองหากซื้อประกันสุขภาพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท

นายอานนท์ วังวสุ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาปฏิรูปเศรษฐกิจแห่งชาติได้ผ่านหลักการตามข้อเสนอของสมาคม ที่เสนอแนวทางการปฏิรูประบบประกันสุขภาพให้กับภาครัฐพิจารณา โดยมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนของกลุ่มที่ใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ได้นำเสนอ 3 แนวทางได้แก่

1.เป็นผู้บริหารค่ารักษาทั้งก้อน

2.การบริหารเฉพาะในส่วนของค่ารักษาโรคร้ายแรง

และ 3.การบริหารค่ารักษาเฉพาะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก

สำหรับในส่วนของภาคประชาชนทั่วไปที่อยู่ในภาคประกันสังคม และกลุ่มที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เสนอให้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีกำลังซื้อประกันสุขภาพ หันมา สร้างประกันสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น

นายอานนท์ กล่าวว่า การบริหารค่ารักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ และการให้ประชาชนทั่วไปนำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ จะช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาลได้ในระยะยาว และยังช่วยสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างมีคุณภาพ

"ในมุมของเบี้ยสุขภาพ หากรัฐให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต ก็จะได้สิทธินี้เหมือนกัน" นายอานนท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะมีเรื่องอื่นเร่งด่วนกว่า เช่น การหันมาปฏิรูปประกันภัยพืชผลก่อนเป็นลำดับแรก แต่เป็นแนวโน้มที่ดีว่าภาครัฐก็เห็นความสำคัญในการที่จะพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี และยังเป็นการลด ภาระภาครัฐในระยะยาว

ทั้งนี้ จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข และการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2546-2554 พบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจสูงสุด รวมทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหัวละ 5,594 บาท/ปี ในปี 2546 เพิ่มเป็นหัวละ 1.18 หมื่นบาท/ปี ในปี 2554

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 มีนาคม 2559