ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์ มศว.องครักษ์ วางแผนให้นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ต่อยอดให้ความรู้ 1 คนต่อ 30 คน หลังผ่านการอบรมในเวที “พลเมืองหลักประกันสุขภาพ” ในชื่อ UHC รุ่น 3 ของ สปสช.เขต 4 สระบุรี เน้นสร้างสื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่ หวังครอบครัวรู้ เพื่อนรู้ ชาวบ้านรู้ ทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพที่จำเป็นอย่างมีประสิทธภาพ

เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2559  ณ จ.นครนายก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แก่นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ในชื่อ “พลเมืองหลักประกันสุขภาพ” (Universal Health Coverage Citizen) UHC รุ่นที่ 3 โดยมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมและให้แนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่แก่นักศึกษาเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ต่อด้วยการบรรยาย “เจตนารมณ์ของการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดย นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี  มีแก่นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ และอาจารย์จาก 9 สถาบันการศึษาเข้าร่วมเกือบ 100 คน

นพ.ชลอ กล่าวว่า ผลสำรวจการรับรู้ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปี 58 พบว่าประชาชนได้รับความรู้ผ่านสื่อบุคคลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นจึงเพิ่มกลุ่มสื่อบุคคลหน้าใหม่ขึ้นโดยเฉพาะนักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ได้แก่นักศึกษาแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข ที่จะต้องจบการศึกษาออกไปทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการในระบบสุขภาพ จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษากลุ่มดังกล่าว เพื่อขยายผลในการสร้างความรู้กับเพื่อน ครอบครัว อาจารย์และสังคมในชุมชน และเป็นการคุ้มครองสิทธิเชิงรุก ลดข้อร้องเรียนที่เป็นสาเหตุเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ และปลุกจิตสำนึกให้นักศึกษามีใจบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

การจัดอบรมดังกล่าว นับเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาเน้นกลุ่มสื่อบุคคล อสม.และเยาวชน ในขณะที่รุ่นที่ 3 ได้คัดเลือกในกลุ่มนักศึกษาที่เน้นคณะที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพเท่านั้น สำหรับสถาบันการศึกษา 9 แห่งที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย UHC ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีครินทรวิโรฒ (มศว.) (องครักษ์) จ.นครนายก, มหาวิทยาลัยปทุมธานี, วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซ, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา, มหาวิทยาลัยรังสิต และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก

ทั้งนี้โดยมีรูปแบบในการจัดอบรมลักษณะเข้าฐาน 3 เรื่องที่สำคัญเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและเกิดการจดจำ ได้แก่ ฐานที่ 1 ใครมีสิทธิหลักประกันสุขภาพและมีหน้าที่อย่างไร ฐานที่ 2 การใช้สิทธิและสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ฐานที่ 3 การคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม และเติมเต็มด้วยกระบวนการทบทวนฐานความรู้และออกแบบการรวบรวมองค์ความรู้ผ่าน Role Play และสื่อในรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากการบรรยายในหัวข้อ “การสร้างสื่อบน Social Media ให้เกิดพลังบวก” โดย ภก.ประชาสรรค์ แสนภักดี นักวิชาการอิสระ มีเนื้อหาประกอบด้วย 12 วิธีฝึกเป็นคนคิดบวก Positive Thinking, การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ Communication, เวิร์คช๊อป Four Storylines  ผ่านเครื่องมือ Inforgraphics เพื่อเพิ่มคุณค่าของสื่อให้น่าสนใจ ซึ่งจากการอบรมพบว่าผลการรับรู้และมีความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น อีกทั้ง อาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น มศว.ยังได้วางแผนการขยายผลโดยนักศึกษา 1 คน จะนำความรู้ไปถ่ายทอดกับเพื่อนและชุมชนในขณะลงฝึกเยี่ยมบ้านอีกโดยตั้งเป้า 1 คนต่อ 30 คน