ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.ปาฐกถาปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก พร้อมหารือรัฐมนตรีกลุ่มประเทศพันธมิตรเพื่อการต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ ด้านผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการลดการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก เป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากประเทศคิวบา

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 69 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Transforming our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development) ว่า ปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 คือ การให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การมีผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่จริงจัง การกำหนดนโยบายอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รัฐ และทุกภาคส่วนในสังคม หรือ "ประชารัฐ" รวมทั้งให้ความสำคัญในการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ได้หารือเพื่อผลักดันประเด็นเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพเข้าสู่วาระของการประชุมระดับสูงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 71 ในเดือนกันยายน 2559 ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มประเทศพันธมิตรเพื่อการต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ  (Alliance Champions the fight against Antimicrobial Resistance : AOC) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือ ในการดำเนินการกลุ่มพันธมิตร AOC-AMR 2015 ของ 14 ประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในมนุษย์และสัตว์อย่างเหมาะสม ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และได้หารือกับลอร์ดจิม โอนีล ประธานคณะทบทวนการดื้อยาต้านจุลชีพ  (Lord Jim O’Neil, Chair of the Review on AMR) ของสหราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดข้อสัญญาทางการเมืองในระดับโลก (Global political commitment) ซึ่งไทยสนับสนุนหลักการ ‘Access, not Excess’ คือ การควบคุมการกระจายและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเกินความจำเป็น โดยคำนึงการเข้าถึงยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม แต่ไม่เข้าถึงมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยา โดยขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ในโอกาสนี้ ยังได้หารือพหุภาคีกับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแลกเปลี่ยนประเด็นการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยเน้นให้การสนับสนุนด้านสาธารณสุขแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการลดการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก เป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากประเทศคิวบา และหารือทวิภาคีกับนายกัน คิม ยอง (Mr.Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ในประเด็นการแสวงหาความร่วมมือเรื่อง แผนการของพฤฒพลังในสิงคโปร์ (Plan on Active Ageing in Singapore) และประเด็นที่ไทยให้การสนับสนุนเรื่องการประเมินเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสาธารณสุขของสิงคโปร์