ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้เพิ่มสิทธิสุขภาพคนพิการอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มเครือข่ายการให้บริการด้วย แนะดึงสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่เป็นแกนกลางสร้างเครือข่ายบริการคนพิการ และให้รัฐปลดล็อกกองทุนสุขภาพ เปิดช่องเอาเงินมาขับเคลื่อนงานได้

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการสุขภาพคนพิการ มีมติให้เร่งรัดแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการใน 2 กองทุนหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกองทุนประกันสังคม ซึ่งพบว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกันและไม่ครอบคลุมการดูแลคนพิการอย่างเพียงพอ โดยจะผลักดันการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมและใกล้เคียงกัน

ซึ่ง ผศ.นพ.ธีระ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องดีในการพยายามเพิ่มสิทธิให้แก่คนพิการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการก็มีความสำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นถึงแม้ปลดล็อกเรื่องการเพิ่มสิทธิได้แล้ว แต่สิทธิดังกล่าวอาจไม่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.นพ.ธีระ ขยายความว่า หากสัมผัสระบบบริการที่จะดูแลฟื้นฟูสภาพคนพิการในปัจจุบัน จะพบว่าปริมาณ supply ที่ให้การดูแลคนพิการ ไม่สามารถรองรับ demand ที่แท้จริงได้ เนื่องจากความสามารถในการให้บริการ (absorptive capacity) ของระบบไม่เพียงพออย่างยิ่ง

ผศ.นพ.ธีระ ยกตัวอย่างว่า ผู้พิการต้องการ device ที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ขาเทียม ไม่ใช่ one size fit all แต่ถ้าไปดูโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่าปริมาณ supply ซึ่งก็คือบุคลากรหรืออุปกรณ์ที่มารองรับความต้องการมีน้อยมาก หรือเรื่องของการเข้าคิว อาทิ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มีคิวที่จะเข้าไปรับบริการนานมาก คนใหม่ที่จะแทรกเข้าไปในระบบบริการก็เป็นไปได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน จากการทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ และการสาธารณสุข ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าจริงๆ แล้ว เราต้องการนวัตกรรมการบริการผู้พิการที่หลากหลายมากขึ้น มากกว่าการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ตัวอย่างนวัตกรรมนี้ เช่น เครือข่ายสถาปัตย์บำบัด ซึ่งเอาสถาปนิกจิตอาสามาร่วมช่วยทีมสุขภาพ ทำงานร่วมกับทีมสุขภาพในการปรับปรุง Home Environment เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือและฟื้นฟูตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ไม่ต้องมีราคาแพง

“อันนี้เป็นตัวอย่างว่าแนวคิดในการช่วยผู้พิการในสังคมไทยต้องก้าวออกจาก comfort zone สร้างเครือข่ายพันธมิตร นวัตกรรมบริการใหม่ๆ ที่เข้ากับชีวิตคนไทย นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็น การเพิ่มสิทธิก็ส่วนหนึ่ง แต่เครือข่ายที่จะให้บริการก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นคนพิการก็ไม่สามารถใช้บริการได้เต็มที่ และต้องไม่เอาภาระของคนไข้มาไว้ที่ระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ต้องดึงคนอื่นในสังคมที่มีทักษะ มีความรู้มาร่วมด้วยช่วยกัน” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า แนวทางการสร้างเครือข่ายบริการใหม่ๆ อาจทำได้ 2 แนวทาง คือ

1.พัฒนาบนโครงสร้างที่มีอยู่ เช่น โครงสร้างการบริหารของภาครัฐ อย่าง อบต. อบจ. หรือโครงสร้างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่แนวทางนี้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องอาศัยตัวกลางในการขับเคลื่อน และอาจต้องอาศัยคนที่มีอำนาจสั่งการระดับสูง อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนสั่งการ

2.แนวทางที่เรียกว่า Third Sector ซึ่งขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น ชาวบ้าน ชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคส่วนวิชาการ เป็นต้น โดยมีคนกลางในการเชื่อมคนที่เกี่ยวข้อง เช่น รู้ว่าในชุมชนมีช่างฝีมือประเภทไหน มีคนประกอบอาชีพอะไร มีอะไรที่สามารถมาช่วยคนพิการได้ แล้วจัดวงตั้งกลุ่มขึ้นมาว่าคนพิการในชุมชนมีมากน้อยเพียงใด ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

“พอตั้งกลุ่มได้ เงินทุนที่นำมาขับเคลื่อนก็มาจากสิทธิการเบิกจ่ายของกองทุนสุขภาพต่างๆ แทนที่จะเอาสิทธิเหล่านี้ผ่านกลไกทางการเงินปกติที่ลงไปสู่ระบบของสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งก็ absorptive capacity อยู่แล้ว เครือข่ายเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่ได้ โรงพยาบาลก็กลายเป็นแม่ข่าย นี่คือสิ่งที่ทำในลักษณะครอบคลุมทั่วประเทศได้” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คีย์สำคัญของแนวทางนี้คือคนที่จะมาเป็นฟันเฟืองในการเชื่อมเครือข่ายเข้าด้วยกันในแต่ละชุมชน จุดนี้อาจใช้สมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อน เพราะเป็น tier ที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ถ้ารัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็นฟันเฟืองได้ ก็ให้เป็นมดงานทำเรื่องนี้ ขณะเดียวกันรัฐก็ช่วยปลดล็อกในการใช้เงินของกองทุนสุขภาพต่างๆ ให้คนที่เป็น Third Sector มาจับคู่กับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้