ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้การ “ปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทยรอบ 2” ต้องสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ไม่เหลื่อมล้ำ ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญเชิงจริยธรรมผู้นำ พร้อมแนะแนวทางปฎิรูประบบสุขภาพต้องรวมกองทุน จัดสรรงบประมาณใหม่ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเท่าเทียม พร้อมเดินหน้าเก็บภาษีสุขภาพร่วมจ่ายก่อนป่วย ขณะฝั่งผู้ให้บริการ สธ.ต้องกระจายอำนาจ ขยายขีดความสามารถหน่วยบริการในท้องถิ่น เพิ่มประสิทธภาพหน่วยบริการ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพรอบที่ 2 คือการทำให้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และไม่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นเป้าหมายสำคัญและต้องทำให้ได้ เพราะประเทศอื่นยังทำได้แม้ว่าจะมีหลายระบบ อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ทุกคนในประเทศได้สิทธิที่เท่าเทียมกัน และจากที่ไทยได้ดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไทยทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องอาศัยความกล้าหาญเชิงจริยธรรมของผู้นำที่พร้อมจะสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ต้องย้ำว่าการลดความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้เป็นการลดสิทธิประโยชน์ของใคร แต่เป็นการทำให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีและเหมาะสมเหมือนกัน โดยใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณระบบสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำได้

“เรื่องนี้ถือเป็นความกล้าหาญเชิงจริยธรรมของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และข้าราชการระดับสูง ในการตัดสินใจเพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ เพราะคนเหล่านี้อยู่ห่วงโซ่บนสุดของความเหลื่อมล้ำ ได้สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าคนอื่นๆ หากคิดเรื่องนี้บนสิทธิประโยชน์ที่ได้จะมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการจะปฏิรูปได้ คนเหล่านี้ต้องมองเห็นความเหลื่อมล้ำก่อน และกล้าหาญพอที่จะทำลายความเหลื่อมล้ำนี้”

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพคือรัฐบาลเอง เพราะการจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน รัฐใส่เงินลงกองทุนไม่เท่ากัน กองทุนหนึ่งได้ 12,000 บาทต่อคน กองทุนหนึ่งได้ 3,000 บาทต่อคน ดังนั้นการจะปฏิรูประบบสุขภาพระบบสุขภาพรอง 2 ได้นั้น รัฐจะต้องบริหารจัดการใหม่โดยนำเงินมากองรวมกันและจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องมาตลอด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการรวมกองทุนเดียว ซึ่งที่สุดต้องเป็นแบบนั้น เพราะการแยกกองทุน แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการรวม แต่จะยังทำให้เกิดความลักลั่น ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ ทั้งยังเสียทรัพยากรการบริหารที่ต้องแยกเป็นหลายระบบ

นอกจากวิธีการจัดสรรงบประมาณแล้ว ที่มาของงบประมาณระบบสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องปฏิรูปเช่นกัน ทั้งนี้นอกจากทำให้ได้งบเพิ่มเติมและทำให้ระบบมีความยั่งยืน โดยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีสุขภาพ เป็นวิธีเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกันต้องทำให้ประชาชนเอง รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ต้องร่วมจ่ายภาษีนี้ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพ และเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ หากต้องการตอบโจทย์ความจำเป็นที่ทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งการดำเนินหลักประกันสุขภาพต้องใช้งบประมาณภาครัฐที่ได้มาโดยภาษีประชาชน แต่ทั้งนี้รัฐบาลเองต้องมีการจัดสรรภาษีสุขภาพนี้อย่างเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย 

“หากวันนี้รัฐบาลเห็นปัญหางบประมาณในระบบสุขภาพที่ต้องสนับสนุนเพียงพอ การร่วมจ่ายก่อนป่วยโดยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีสุขภาพเป็นทางออกดีที่สุด อาจเก็บเพิ่มในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีนิติบุคคล แต่ต้องไม่เป็นการ่วมจ่ายในขณะที่เจ็บป่วยโดยคิดเป็นร้อยละของค่ารักษา เพราะความสามารถในการจ่ายของแต่ละคนแตกต่างกัน และจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชนได้”  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันด้านผู้ให้บริการเองยังต้องมีการปฏิรูปไปพร้อมกัน โดยทำให้เกิดการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ทำให้หน่วยบริการในระดับชุมชนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น โดยให้ชุมชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของหน่วยบริการ เข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างและบุคลากรในหน่วยบริการตนเอง ซึ่งถือเป็นทิศทางที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยยังคงเชื่อมต่อโครงข่ายบริการในปัจจุบันไว้ แต่หากยังคงปล่อยให้โรงพยาบาลทั้งหมดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอย่างทุกวันนี้ ปัญหาความไม่เพียงพอทั้งทรัพยากรและบุคคล รวมปัญหาด้านบริหารจัดการ ที่ส่งผลถึงคุณภาพการบริการจะยังคงอยู่แบบนี้ต่อไป ประเด็นนี้จึงถือเป็นเรื่องยากและเป็นความท้าทายของผู้บริหารที่จะมองไปข้างหน้า และที่ผ่านมาเรามีตัวอย่างของโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่ออกนอกระบบและสามารถบริหารจัดการได้ดี   

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูประบบสุขภาพรอบใหม่นี้ ต่างจากการปฏิรูประบบสุขภาพรอบแรกในการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะมีความซับซ้อนของโจทย์เพิ่มขึ้น ซึ่งการแก้โจทย์เหล่านี้ได้ต้องคิดอย่างรอบคอบและอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่มีอคติต่อกัน ต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันที่ไม่ใช่การดึงอำนาจคืน แต่มองประโยชน์โดยรวมของคนในประเทศเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระบบสุขภาพที่ดี มีมาตรฐาน และมีความเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันผู้ให้บริการเองในทุกระดับมีความสุขในการทำงาน มีทรัพยากรพอเพียงในการบริหารจัดการได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่การมีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวและไม่มีความเหลื่อมล้ำ