ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลเตรียมเปิดลงทะเบียนคนจนดีเดย์วันแรก 15 ก.ค.นี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถามช่วยคนจนหรือเพื่อตีตราคนจน งานวิจัยชี้แบ่งคนจากสถานะทำให้คนรู้สึกถูกตีตรา

วันที่ 15 ก.ค.นี้ จะเป็นวันแรกที่กระทรวงการคลังเชิญชวนประชาชนผู้มีรายได้น้อย ลงทะเบียนผ่าน 3 แบงก์รัฐ เพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในอนาคต โดยกำหนดผู้ลงทะเบียนต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หรือต้องเกิดก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2541 ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ลงทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สิน หนี้สินที่คงค้าง โดยเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ถึงวันที่ 15 ส.ค.59

กระทรวงการคลังได้แนะนำให้ผู้ที่จะลงทะเบียนดาวน์โหลดแบบฟอร์มและกรอกละเอียดให้เรียบร้อยก่อนเดินทางมาลงทะเบียนที่สาขาของธนาคารเพื่อความสะดวกรวดเร็ว เพราะในช่วง 1 เดือนนี้คาดว่าจะมีการลงทะเบียนประมาณ 3-5 ล้านคน และหลังจากการลงทะเบียนแล้วรัฐบาลจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดกลุ่มสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังยอมรับว่าที่ผ่านมาข้อมูลยังมีผิดพลาด เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชราที่เสียชีวิตไปแล้วนับแสนคน ปัจจุบันมีผู้รับสวัสดิการจากรัฐบาลประมาณ 10 ล้านคน ทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด และผู้พิการพิการ"

ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้แถลงข่าวตั้งคำถามถึงเจตนาโครงการนี้ว่า เป็นช่วยคนจนหรือเพื่อตีตราคนจน

นางอำไพ รมยะปาน ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การลงทะเบียนคนจนโดยอ้างว่าเพื่อจะได้มีนโยบายจัดสวัสดิการเฉพาะเจาะจงให้ จะทำให้รัฐยกเลิกการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าทันที ซึ่งส่งผลกระทบต่อสวัสดิการที่มีอยู่ปัจจุบันคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ซึ่งนับว่าเป็นการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อคนจน ทั้งที่สิทธิในการรับสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นสิทธิของทุกคน

นางชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพฯ กล่าวว่า สะท้อนใจกับผู้นำประเทศไทย ที่มุ่งแต่จะจำกัดงบประมาณด้านสวัสดิการของประชาชน ในขณะที่เมื่อได้เห็นนโยบายดีๆ ของประเทศต่างๆ ทั้งเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า การศึกษาที่ไม่ต้องจ่ายเงินจนถึงปริญญาตรีของประเทศสโลวาเนียและฟินแลนด์ ที่รัฐจัดให้อย่างเสมอหน้ากัน ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ประกาศว่าเรียนฟรีแต่ไม่ฟรีจริง นอกนั้นในประเทศต่างๆ ยังมีการจัดสวัสดิการแรงงาน สวัสดิการสุขภาพ สวัสดิการของเด็กและผู้สูงอายุ โดยเป็นการจัดแบบถ้วนหน้า

“รัฐอย่าถามว่าทำไมเขาทำได้ แต่ควรถามตัวเองว่าทำไมเราไม่ทำให้ได้บ้าง” ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคกล่าว

นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เน้นย้ำว่า การมีวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศและข้าราชการในประเทศนี้เป็นสิ่งสำคัญว่าต้องการให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือต้องการเพียงแต่สงเคราะห์คนจน อ้างแต่เพียงว่างบประมาณไม่พอ ทำไมจึงเอาเงินไปลงทุนในสิ่งที่น่าจะมีปัญหา เช่น รถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่คุ้มเลย หากดูหนังเรื่องนี้แล้วจะเห็นได้ชัดว่า คนทำหนังเน้นถึงประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชอบบุกไปประเทศอื่นๆ ทางการทหาร ลงทุนทางอาวุธมากมายมหาศาล แต่ไม่เคยจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้คนในประเทศ รวมถึงการลดการตีตราคนจนในประเทศด้วย

“ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ในทวีปอื่นเขาทำได้ เพราะผู้นำเขามีวิสัยทัศน์ นักธุรกิจของเขาก็เห็นคุณค่าของแรงงาน ประชาชนก็ยินดีจ่ายภาษีตามความสามารถครั้งเดียวจบ ไม่ต้องจ่ายซ้ำซ้อน แล้วได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าทันที หากประเทศไทยมีการบริหารงบประมาณอย่างเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ลดการลงทุนทางวัตถุที่ไม่จำเป็น และมีการจัดเก็บภาษีความมั่นคงให้ได้จริง ทั้งภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีกำไรในตลาดหุ้น แล้วนำมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าย่อมทำได้แน่นอน” นางอรกัลยา กล่าว

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ชี้แนวโน้มว่า โครงการของรัฐที่พยายามคัดกรองคนโดยการวัดระดับความเป็นอยู่ทางด้านเศรษฐกิจ (means test) มักก่อการรู้สึกถูกตีตรา (stigmatized) ในกลุ่มเป้าหมาย ถึงขนาดบางส่วนไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ ในประการแรกบุคคลบางส่วนของกลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกว่าตนถูกลดทอนคุณค่า ประการที่สองเกิดการคาดหมายล่วงหน้าว่าตนจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.อนุมัติโครงการ 'ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย' 15 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ ผ่าน 3 แบงก์รัฐ

ประชาชน 3.36 แสนคน ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยแล้ว