ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ยื่นหนังสือ เลขาธิการ ศอ.บต.ติดตามเรื่องแก้ไขงานบริหารบุคคลและค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เผยความคืบหน้าตั้งคณะทำงานทบทวนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ พร้อมตั้งคณะทำงานพิจารณาความก้าวหน้าบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ และตัวแทนเจ้าพนักงานสาธารณสุขชายแดนใต้กว่า 100 ราย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อติดตามข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขงานบริหารบุคคล และค่าตอบแทนเสี่ยงภัย (ฉบับ 10) บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ มีรายละเอียดดังนี้

1.ขอปรับตำแหน่งเจ้าพนักงานทุกสายงาน (เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ฯลฯ) ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีวุฒิปริญญาตรี ตรงตามหนังสือ ว.16/58 โดยขอให้ปรับเป็นตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขโดยมิต้องยุบตำแหน่ง มีรายละเอียดตามนี้

1.1 เจ้าพนักงานชำนาญงานทุกตำแหน่งปรับเป็นนักวิชาการชำนาญการ

1.2 เจ้าพนักงานปฏิบัติงานทุกตำแหน่งที่มีผลสอบแข่งขัน ปรับเป็นนักวิชการสาธารณสุขปฏิบัติการ

1.3 เจ้าพนักงานปฏิบัติงาน ที่ไม่มีผลสอบแข่งขันทุกคน ให้ใช้มาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ตั้งคณะทำงานคัดเลือกเพื่อปรับเป็นนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

2.เลื่อนและปรับปรุงตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.จังหวัดชายแดนใต้ทุกแห่ง ดังนี้

2.1 ผอ.รพ.สต.ที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เลื่อนเป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ

2.2 ผอ.รพ.สต.ที่เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน ที่มีวุฒิปริญญาตรีเลื่อนเป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ 2.3 ผอ.รพ.สต.และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน ที่ไม่มีวุฒิปริญญาตรี เลื่อนเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส

3.ทบทวนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เสี่ยงภัยชายแดนใต้ ดังนี้

3.1 จัดสรรให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ เพราะทุกวิชาชีพต่างมีความเสี่ยงภัย และไม่ควรอ้างความขาดแคลนของบางวิชาชีพ เพราะปัจจุบันบางวิชาชีพในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ขาดแคลน หรือบางวิชาชีพมี FTE เกินแล้ว และความขาดแคลนถูกนำมาอ้างในการปรับค่าตอบแทนเหมาจ่าย (ฉบับ 8) แล้ว

3.2 ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการจัดสรรค่าตอบแทน ฉบับ 10 ให้ทุกวิชาชีพ โดยทุกวิชาชีพควรได้รับในอัตราเดียวที่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน

4.การแก้ไขปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและข้าราชการพลเรือนในจังหวัดชายแดนใต้ ที่เงินเดือนเต็มขั้น (ตัน) ให้ปรับบัญชีอัตราเงินเดือน และสามารถเลื่อนไหลเงินเดือน เช่นเดียวกับครู หรือข้าราชการอื่นๆ ที่มีบัญชีเงินเดือนหรือการเลื่อนไหลเงินเดือนที่ดีกว่าข้าราชการพลเรือน

นายริซกี สาร๊ะ เลขาชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการยื่นหนังสือว่า เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ประสานงาน ภก.ประเวศ หมีดเส็น รองเลขาธิการ ศอ.บต. และผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกรกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าว มีความคืบหน้าดังนี้

1.เรื่องการทบทวนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เสี่ยงภัยชายแดนใต้นั้น จากการประชุมเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวน ฉบับ 10 และจะประชุมคณะทำงานนัดแรก ภายใน 15 วัน มีนายมะกอเซ็ง เจ๊ะแต ประธาน ชมรมผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ และนายริซกี เป็นคณะทำงาน

2.เรื่องความก้าวหน้าต่างๆ เช่น ปรับตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขสู่นักวิชาการสาธารณสุข ตามหนังสือ ว.16/58 คือ เจ้าพนักงานระดับชำนาญงาน สู่เจ้าพนักงานระดับอาวุโส นักวิชาการชำนาญการ สู่นักวิชาการชำนาญการพิเศษ นั้น จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเร็วๆ นี้ มีนายริซกี และนายมะกอเซ็ง รวมถึงตัวแทน จพ.ป.ตรี (เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่จบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว) เป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ให้ครอบคลุม

3.เลขาธิการ ศอ.บต.ให้ขอบเขตประเด็นเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ และแจ้งว่าจะให้ อ.ก.พ.ศอ.บต.หน่วยงานส่วนหน้าของ ศอ.บต.ที่ทำหน้าที่คล้าย ก.พ.ซึ่งดูแลเรื่องนี้ในจังหวัดชายแดนใต้ พิจารณาทำค่างานของ จพ.ป.ตรี และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่พิเศษ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุขอีกทางหนึ่ง

4.เลขาธิการ ศอ.บต.ได้สอบถามถึงประเด็นการเป็น ผอ.รพ.สต แต่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง

5.เลขาธิการ ศอ.บต.รับปากว่าจะดำเนินการติดตามประเด็นต่างๆ ของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนต่อไป