ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสนอแก้มาตรา 5 กม.บัตรทอง เพิ่มคนไทยรอพิสูจน์สถานะ รวมกองทุนคืนสิทธิฯ เข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริหารจัดการรักษาพยาบาลระบบเดียว รับสิทธิประโยชน์ คุณภาพและมาตรฐานบริการเท่าเทียม หลังแยกกองทุนบริหารโดย สธ. ทำสิทธิ์เหลื่อมล้ำ หน่วยบริการเบิกจ่ายยุ่งยาก แถมสิ้นเปลืองงบบริหารจัดการเพิ่ม พร้อมเสนอให้ครอบคลุมถึงคนไทยรอพิสูจน์สถานะที่ยังตกสำรวจ

นายวิวัฒน์ ตามี่

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขณะนี้ว่า ควรจะมีการแก้ไข มาตรา 5 ของกฎหมายฉบับนี้ให้มีความชัดเจน โดยระบุให้ครอบคลุมถึงคนไทยที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติด้วย ซึ่งแต่เดิมก่อนปี 2545 ที่จะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนเหล่านี้เคยได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาลมาก่อน อย่างบัตรสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) เป็นต้น แต่มาถูกตัดสิทธิภายหลังจากการตีความของกฤษฎีกาในมาตรา 5 นี้ โดยจำกัดเฉพาะคนไทยที่มีเลข 13 หลักเท่านั้น ส่งผลให้คนเหล่านี้ถูกตัดสิทธิไป ทั้งที่เป็นคนไทยเหมือนกัน นอกจากไม่เป็นธรรมแล้ว ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนี้     

“คนเหล่านี้เป็นเพียงคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะเท่านั้น ดังนั้นควรได้รับการยอมรับและระบุในกฎหมายให้ชัดเจนเลย โดยเพิ่มเนื้อหามาตรา 5 ที่ให้สิทธิแก่คนไทยที่สำรวจตกทะเบียน หรือบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ ซึ่งต้องย้ำว่าเราไม่ได้ขอสิทธินี้ให้กับคนต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ เพราะคนเหล่านี้ก็มีระบบที่ดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่เราขอคืนสิทธิให้กับกลุ่มคนดั้งเดิมที่มีถิ่นฐานอยู่ในไทยมานาน กลุ่มคนไทยผลัดถิ่น รวมถึงคนจีนโพ้นทะเล ที่ถูกกีดกันออกจากระบบไป” นายวิวัฒน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ผลที่ได้นอกจากช่วยให้คนไทยที่รอการพิสูจน์สัญชาติได้รับสิทธิรักษาพยาบาลแล้ว หน่วยบริการยังได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งช่วยป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น จากการเข้าถึงสิทธิรับบริการสาธารณสุขนี้   

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขโดยคืนสิทธิ์รักษาพยาบาลให้คนเหล่านี้ โดยมีการจัดตั้งกองทุนคืนสิทธิให้กับกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติแล้ว ตามมติ ครม. 23 มีนาคม 2553 โดยมีจำนวนประมาณ 6.8 แสนคน แต่ก็ยังมีผู้ที่ตกสำรวจอีกมาก อีกทั้งกองทุนคืนสิทธินี้ถูกแยกบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมองว่าน่าจะมีการรวมเพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน มีสิทธิประโยชน์และมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้มีคุณภาพในการดูแลรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน เพราะป็นคนไทยเหมือนกัน แต่เนื่องจากระบบที่มีการแยกบริหาร ไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ แต่ยังส่งผลต่อความยุ่งยากในการบริหารจัดของของหน่วยบริการ เพราะต้องดำเนินการบนระบบฐานข้อมูลแตกต่างกัน การเบิกจ่ายที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความยุ่งยาก รวมทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณบริหารจัดการเพิ่มขึ้น ขณะที่การรวมเป็นระบบเดียวกันจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 

ส่วนที่เกรงว่าหากขยายสิทธิการรักษาโดยให้รวมกลุ่มคนรอพิสูจน์สัญชาติที่ตกสำรวจ อาจเป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นนั้น นายวิวัฒน์ กล่าวว่า คำว่าเพิ่มภาระงบประมาณนั้น คงต้องดูว่าหากคนเหล่านี้เป็นคนไทยแล้วจะเป็นภาระงบประมาณได้อย่างไร แต่เป็นคนที่รัฐต้องให้การดูแล อีกทั้งคนเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มที่จ่ายภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นรายได้หลักของประเทศ จึงถือเป็นผู้ร่วมจ่ายในระบบเช่นกัน ดังนั้นรัฐจึงควรต้องให้สิทธิ 

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากเนื้อหาในมาตรา 5 แล้ว ยังสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 41 เพื่อเยียวยาเบื้องต้นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยให้รวมถึงผู้ให้บริการด้วย แต่ยังคงเห็นควรให้คงมาตรา 42 ในการไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิดเพื่อเป็นการปรามและให้ระมัดระวังความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งการไปใช้กฎหมายอื่นจะมีความยุ่งยาก ซึ่งทางฝั่งกลุ่มผู้ให้บริการและสภาวิชาชีพเห็นว่าควรตัดออก

ส่วนที่มีข้อเสนอที่ขอปรับเพิ่มบอร์ด สปสช.ในสัดส่วนของสภาวิชาชีพนั้น นายวิวัฒน์ กล่าวว่า สัดส่วนบอร์ด สปสช.ต้องเน้นที่ความสมดุล ซึ่งปัจจุบันนี้บอร์ด สปสช.ในสัดส่วนภาคประชาชนมีเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น จากจำนวนบอร์ด 30 คน ทั้งที่เรามีตัวแทนภาคประชาชน 9 ด้าน ที่ต้องคัดเลือกให้เหลือ 5 คน โดยบอร์ดนี้มีบทบาทสำคัญคือเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นจึงควรเพิ่มในส่วนของภาคประชาชนด้วย