ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุกจับคลินิกเสริมความงามเถื่อน 2 แห่งย่านรังสิต เปิดโดยไร้ใบอนุญาต หลังมีประชาชนไปใช้บริการร้องเรียน ลงดาบทันที แห่งแรกดำเนินคดี 4 กระทง ผิดทั้งเปิดคลินิก ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยามีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แห่งที่สองดำเนินคดี 1 ข้อหา ฐานเปิดคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ ตั้งตรงไพโรจน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมสบส. และพันตำรวจโทอภิชัย ไลออน รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบคลินิกเถื่อนที่อยู่ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และพบเห็นไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลินิกทั้ง 2 แห่ง แห่งแรกชื่อรสิตาคลินิก ตั้งอยู่ชั้น 2 ของโรงภาพยนตร์ชื่อดัง มี พญ.การ์ติ์พิชชา วสุพลวิฬุรห์ เป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ดำเนินการด้วย โดยป้ายชื่อหน้าร้านไม่มีการแสดงเลขใบอนุญาตประกอบกิจการ 11 หลัก และไม่พบ พญ.การ์ติ์พิชชา แต่พบนางสาวศุภนิฐา จันทร์ทอง ซึ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาให้บริการในหน้าที่แพทย์ตรวจรักษา และยังมีการเตรียมยาฉีดเพิ่มความสวย อาทิ วิตามินซี เมโสแฟต รกแกะ บรรจุในหลอดฉีดยาพร้อมฉีดจำนวนเกือบ 100 กระบอก

และยังมีการใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งยังมีเครื่องลดไขมัน และนวดหน้าในคลินิกด้วย เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการยึดของกลางเป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ซึ่งการทำการรักษาโดยบุคคลที่มิใช่แพทย์ถือว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรง จึงต้องเร่งดำเนินกวาดล้างให้หมดไป เพื่อให้คลินิกทุกแห่งมีมาตรฐานและสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ

ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา 4  กระทง ได้แก่ 

1) ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2) ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3) จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนคลินิกที่สอง คือ คลินิกหมอพฤหัส-หมอยิ่งยง ตั้งอยู่บริเวณเลียบคลองรังสิต จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบเจ้าของสถานที่และผู้ดำเนินการเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะอย่างถูกต้อง แต่ดำเนินการเปิดคลินิกโดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องจาก สบส. จึงแจ้งข้อหา 1 กระทง คือ ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดี สบส. กล่าวต่อว่า คลินิกที่ได้มาตรฐาน จะต้องประกอบด้วยหลักฐานต่อไปนี้ คือ 

1) แสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ และอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย

2) จะต้องติดป้ายชื่อ ประเภทและลักษณะการให้บริการ รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจำนวน 11 หลัก ที่ด้านหน้าสถานพยาบาล

และ 3) ติดป้ายชื่อพร้อมรูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่หน้าห้องตรวจ-รักษา

โดยประชาชนสามารถตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ได้ที่ เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากมีข้อสงสัยหรือพบสถานพยาบาลและหมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์(http://www.mrd.go.th/ mrdonline2014), เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ และสายด่วน สบส.02-193-7999 ตลอด 24ชั่วโมง