ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูประบบสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชากรโลก อันเป็นภารกิจที่รัฐบาลประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญไม่เฉพาะแต่เพื่อการปรับปรุงนโยบายทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องเผยให้ประชากรเห็นถึงความจริงใจในการปฎิรูปเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวางอีกด้วย เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่นได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขของออสเตรเลียที่ควรจะเป็นหมุดหมายของรัฐบาลชุดใหม่

รัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูลได้รับคำแนะนำจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับแนวทางบริหารระบบสุขภาพท่ามกลางความกังวลถึงนโยบายบริหาร เนื่องจากรัฐบาลชุดเดิมไม่มีวาระด้านนโยบายสุขภาพที่ชัดเจน นอกเสียจากมุ่งเน้นไปที่การลดงบประมาณรายจ่าย รวมถึงแปรรูปกิจการและเปิดเสรีแข่งขันด้านบริการดูแลสุขภาพ

คำแนะนำต่างมุ่งให้รัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่จำเป็นต้องปรับปรุงการบริหารระบบสาธารณสุขให้เท่าทันกับศตวรรษที่ 21 โดยจะต้องไม่เป็นไปเพื่อรักษาฐานเสียงหากแต่เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของชาวออสเตรเลียทั้งมวล ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปรับแนวทางการกำหนดนโยบายและปฏิบัติเสียใหม่ เริ่มจากความจำเป็นต้องมีการตั้งกองทุนงบประมาณใหม่ โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่มองว่างบประมาณสุขภาพเป็นภาระรายจ่าย แต่มองในฐานะเป็นการลงทุนเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ผลิตภาพ ตลอดจนความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถยึดโยงอยู่กับข้อมูลเชิงประจักษ์และคุณค่าที่ได้รับมากกว่าแนวทางเดิมที่แข็งกร้าว

แนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขของออสเตรเลียที่ควรจะเป็นหมุดหมายของรัฐบาลชุดใหม่ ได้แก่

1. ผู้ป่วยต้องเป็นศูนย์กลาง

กล่าวได้ว่า ระบบสาธารณสุขมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้นโยบาย มาตรการด้านการเงิน และข้อเสนอต่างๆ จึงต้องพิจารณาด้วยมุมมองของผู้ป่วยควบคู่ไปกับภาระของผู้ให้บริการ (โรงพยาบาล แพทย์ และผู้ให้บริการประกันสุขภาพ) ซึ่งมีสถานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมักมีบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเห็นได้ว่ารัฐบาลออสเตรเลียมักพึ่งคำปรึกษาจากองค์กรระดับสูง เช่น สมาคมแพทย์ออสเตรเลียและกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพแทนที่จะหันหน้ามาหาประชาชน ผู้ป่วย และผู้ให้บริการตั้งแต่ต้น เพราะการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยมุมมองของผู้ป่วยจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถระบุกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประโยชน์และสามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้านดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ

สิ่งสำคัญประการต่อมา คือ งบประมาณจะต้องไม่เน้นเพียงการรักษาโรคหากต้องรวมไปถึงการป้องกันโรคแก่ประชาชน โดยเฉพาะโรคอ้วนซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และยังก่อผลสืบเนื่องอีกหลายประการ รวมถึงโรคเบาหวาน

ดังที่มีข้อมูลสถิติชี้ว่าอัตราการตัดอวัยวะเนื่องจากโรคเบาหวานของออสเตรเลียเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 12 รายและมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นปีละ 875 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 22,947 ล้านบาท) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สามารถป้องกันได้ อีกทั้งการลงทุนเพื่อการป้องกันโรคจะต้องสอดคล้องกับภาระโรคทั้งในแง่ทรัพยากรและการปฏิบัติ โดยที่จะต้องไม่มองว่านโยบายนั้นอาจเป็นการปกป้องประชาชนมากเกินควร

3. ปฏิรูปอย่างยั่งยืน

ประการนี้หมายถึงการผละออกจากโครงการนำร่องที่ดำเนินไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือไม่มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และการปฏิรูปที่แท้จริงจะต้องมีกรอบเวลาที่ไม่ผูกพันกับวาระการดำรงตำแหน่ง  ดังที่พรรคเลเบอร์ได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริการสุขภาพแห่งชาติ (Australian Healthcare Reform Commission) รวมถึงศูนย์นวัตกรรมเมดิแคร์และระบบบริการสุขภาพ (Centre for Medicare and Healthcare System Innovation) เพื่อผลักดันการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แผนปฏิรูปในลักษณะนี้จะนำไปสู่การพัฒนา ปฏิบัติ ประเมิน ปรับปรุง และขยายมาตรการปฏิบัติโดยไร้รอยต่อ อันจะส่งผลดีต่อโครงการสุขภาพต่างๆ ของรัฐ รวมถึงโครงการดูแลรักษาผู้ป่วยเรื้อรัง และประเด็นที่ซับซ้อน เช่น การปฏิรูปบริการด้านสุขภาพจิต เป็นต้น

4. ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ

เวชระเบียนไม่สามารถประเมินสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนได้ทั้งหมด รัฐจึงต้องบูรณาการนโยบายทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริหารใหม่ กล่าวได้ว่า การบูรณาการมาตรการให้เชื่อมโยงกันเป็นแนวทางเดียวที่จะสามารถแก้ไขภาระจากโรคอ้วน สุขภาพจิต สุขภาพผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงการยุติความเหลื่อมล้ำสำหรับชนพื้นเมือง

5. ข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญ

การศึกษาวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และการประเมินผลเป็นกุญแจสำคัญสู่การปฏิรูประบบบริการสุขภาพของออสเตรเลีย กล่าวได้ว่าความบกพร่องเชิงนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียชุดก่อนนั้น เห็นได้จากการยุบหรือลดสถานะหน่วยงานสำคัญ รวมถึงการปรับลดงบประมาณการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพ อาทิ Primary Health Care Research, Evaluation and Development (PHCRED) Strategy และงานวิจัย Better Evaluation and Care of Health (BEACH) จึงนับว่าห้วงเวลานี้เป็นโอกาสที่กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียจะได้รวบรวมรายงาน ผลการศึกษาวิจัยและการประเมิน ตลอดจนงานวิจัยด้านการดูแลสุขภาพภายในการกำกับของสำนักงานวิจัยการดูแลสุขภาพปฐมภูมิแห่งออสเตรเลีย (Australian Primary Health Care Research Institute) เพื่อปรับปรุงแนวทางการให้บริการและสนับสนุนงบประมาณบริการสาธารณสุข

ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งคณะที่ปรึกษาซึ่งกอปรด้วยผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำที่จำเป็น โดยอาจไม่ใช่คำแนะนำที่รัฐต้องการดังที่เคยเป็นมา มีแนวทางดังนี้

ปรับปรุงโครงการ Close the Gap ให้ครอบคลุมถึงการคืนความยุติธรรมและสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่แก่ชนพื้นเมือง

รัฐบาลกลางเป็นผู้นำปฏิรูปการดูแลรักษาด้านสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย จากเดิมที่ยังคงมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างแผนประกันสุขภาพผู้พิการแห่งชาติ (National Disability Insurance Scheme) และเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Health Networks)

ให้บริการบ้านพักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยกำหนดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประสานการรักษาปฐมภูมิ การรักษาเฉพาะทาง และการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ป่วย

เร่งรัดการทบทวนสิทธิประโยชน์ 5,700 รายการโดยตัดข้อที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับหรือไม่สะท้อนเวชปฏิบัติที่ดี ขณะเดียวกันก็เพิ่มรายการที่จำเป็น

แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางในบริการผู้ป่วยนอก รวมถึงปัญหาค่ารักษาแพง

ควบคุมส่วนลดของประกันสุขภาพส่วนบุคคล และตรวจสอบว่าประกันสุขภาพมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ซื้อประกันดังกล่าว

เรียบเรียงจาก

เว็บไซต์เดอะ คอนเวอร์เซชั่น: five tips to get the government started on real health reform

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com