ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่แล้วผมได้เห็นโพสต์จากมิตรสหายท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงบทบรรณาธิการจากวารสาร "คลินิก" ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2558 โดยจั่วหัวว่า "แพทย์ที่เก่งที่สุดควรอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน" และถึงแม้ว่าจะได้อ่านมาเป็นเวลาเกือบเดือนเต็มๆ แล้ว แต่เนื้อหาในบทบรรณาธิการนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในใจผมไม่ห่าง

เพราะนิยามของคำว่า "แพทย์ที่เก่ง" ในที่นี้มันช่างแคบซะจนรู้สึกเหมือนโดนบีบคอ

"แพทย์ที่เก่ง" ตามบทบรรณาธิการนี้หมายถึงแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ตัดสินใจได้ฉับไว และรักษาชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์วิกฤติได้ ซึ่งนี่ก็เป็นนิยามเดียวกันกับ "แพทย์ที่เก่ง" ในรูปแบบที่คนทั่วไปคิด (และแม้แต่บุคลากรทางสุขภาพบางส่วนก็อาจจะคิดเหมือนกันด้วย) และเป็นภาพลักษณ์ที่เราเห็นได้ตามหนังหรือละครจำนวนมาก ตัวเอกมักจะเป็นแพทย์ที่มีความสามารถระดับเหนือมนุษย์ วินิจฉัยโรคยากๆ ได้ สามารถทำการผ่าตัดหรือหัตถการแบบที่คนอื่นไม่สามารถทำได้ (ER, Team Medical Dragon, Grey's Anatomy, Doctor K ก็มาแนวนี้ทั้งนั้น)

แนวคิดของแพทย์ที่เก่งตามบทบรรณาธิการนี้มันจำกัดมาก จนทำให้ผมสงสัยว่ามิติของบริการทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันมันตื้นเขินขนาดนั้นเชียวหรือ?

- แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ไม่เชี่ยวชาญในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ดำเนินนโยบายส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นได้อย่างดีเยี่ยม นับเป็นแพทย์ที่เก่งหรือไม่?

- แพทย์โรคหัวใจที่ไม่ได้ทำหัตถการได้ระดับเทพ แต่สามารถโน้มน้าวผู้ป่วยให้ลดละเลิกพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพได้ นับเป็นแพทย์ที่เก่งหรือไม่?

- วิสัญญีแพทย์ที่ไม่ถนัดดมยาเคสซับซ้อน แต่จัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศัลยแพทย์ผ่าตัดได้สะดวก ให้บริการผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น นับเป็นแพทย์ที่เก่งหรือไม่?

- กุมารแพทย์ที่รักษาโรคยากๆ ไม่ได้ แต่มีความอบอุ่นที่ทำให้เด็กๆ ยินดีที่จะมาโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นแพทย์ที่เก่งหรือไม่?

- แพทย์โรคผิวหนังที่ CPR ไม่เป็น แต่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคผิวหนังเรื้อรัง รู้สึกดีกับตัวเองและมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น นับเป็นแพทย์ที่เก่งหรือไม่?

และอื่นๆอีกมากมาย

พฤติกรรมเหล่านี้ก็ล้วนแต่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น และไม่แน่แพทย์แต่ละคนในทั้ง 5 ข้อนี้อาจจะสามารถเพิ่ม Quality-Adjusted Life-Year ได้มากกว่า "แพทย์ที่เก่งที่สุด" ตามบทบรรณาธิการนี้ซะด้วยซ้ำ ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะพูดถึงคำว่า "แพทย์ที่เก่ง" ไปเพื่ออะไร?

ถ้าท่านใดบอกว่าแพทย์ที่เก่งก็ต้องทำได้ทั้งหมดตามข้างบนสิ ผมขออนุญาตแนะนำว่าท่านควรไปหาความสุขจากการอ่านเทรุ หัตถ์เทวดานะครับ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงคงไม่สามารถทำให้ท่านพอใจได้ โลกยุคปัจจุบันนี้คือสังคม "พหุปัญญา" ซึ่งมองโลกด้วยความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์มีความสามารถแตกต่างกันไป และวิธีในการปิดช่องโหว่ที่แต่ละคนมีก็คือการใช้จุดแข็งของแต่ละคนเข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน แนวคิดทำนองว่าต้องมีคนประเภท "เก่งที่สุด" นั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว

ในสังคมพหุปัญญาที่แท้จริงนั้นไม่มีใครเค้ามาเสียเวลาคิดเรื่องใครเก่งหรอกครับ แต่เค้าจะมองกันว่า "ความถนัด" ของคุณคืออะไร และทำการสร้าง "ทีม" ที่ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งความถนัดตอบโจทย์ของปัญหาที่เจอ โดยไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่จะกล่าวถึงคำว่า "เก่งที่สุด"

"แพทย์ที่วินิจฉัยและให้การรักษาภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วควรจะอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน" เปลี่ยนใหม่เป็นอย่างนี้จะเหมาะสมกว่ากันเยอะนะครับ

(เผยแพร่ครั้งแรกบน facebook ส่วนตัวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2559)