ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปส. ปิ๊งไอเดียดึงผู้ประกันตนกลับคืนสู่ระบบประกันสังคม เตรียมคืนสิทธิมาตรา 39 ให้ประชาชนกว่า 9.3 แสนราย ย้ำออกแบบรับรองอนาคต คาดเทรนด์ทำงานนอกบริษัทมากขึ้น

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.มีแนวคิดที่จะคืนสิทธิประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขาดสิทธิไปก่อนหน้านี้ จำนวนประมาณ 9.3 แสนราย เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เคยเป็นผู้ประกันตนและเห็นประโยชน์จากการมีประกันสังคม แต่อาจมีสาเหตุบางประการทำให้เกิดการขาดจากการเป็นผู้ประกันตน เช่น ขาดจ่ายเงินสมทบ

อย่างไรก็ตาม สปส.ต้องการให้บุคคลเหล่านั้นกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง และในอนาคตซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ลักษณะงานจะเปลี่ยนแปลงไป อาจมีคนออกจากงานในระบบทั่วไปมากขึ้น สปส.จึงจำเป็นต้องสร้างระบบรองรับไว้ด้วย

สำหรับการดำเนินการในระยะสั้นกรณีที่ผู้ประกันตนเดิมขาดสิทธิหรือลืมจ่ายเงินสมทบ เบื้องต้นทาง สปส.จะพิจารณาคืนสิทธิให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมเพื่อให้กลับเข้าสู่ระบบอย่างเร็วที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 อยู่ในระบบประมาณ 1 ล้านราย ส่วนผู้ที่หลุดออกจากระบบประมาณ 9.3 แสนราย

“สาเหตุหลักของการขาดสิทธิคือประชาชนลืมจ่ายเงินสมทบ และมีบ้างที่ไม่มีเงินจ่าย ซึ่งระยะสั้นเราจะคืนสิทธิให้ก่อน จากนั้นก็จะมีระบบแจ้งเตือนทางข้อความของโทรศัพท์มือถือ” นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะมีการปรับปรุงกฎหมายคือ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้ขึ้น โดยอาจต้องพิจารณาเพื่อเปิดช่องว่าบุคคลจะเข้า-ออกจากระบบอย่างไร และบุคคลที่อยู่มาอย่างสม่ำเสมอจะได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

“ขอยืนยันในหลักการว่าจะมีการคืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุกคน ทุกราย อย่างเท่าเทียมกัน แต่จากนั้นก็ต้องพิจารณาว่าบุคคลใดที่พร้อมจะอยู่ต่อหรือพร้อมจ่ายสมทบต่อ แต่เรื่องนี้เป็นพระราชบัญญัติ ฉะนั้นหากแก้ไขก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับแก้กฎหมายซึ่งขั้นตอนอาจจะยาวออกไป แต่ก็จะเร่งให้เร็วที่สุด แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเริ่มได้เมื่อใด” นพ.สุรเดช กล่าว

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ) ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมารา 33 (มีนายจ้าง) และนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งภายหลังจากยื่นใบสมัครแล้ว จะต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 39 มีด้วยกัน 6 กรณี ประกอบด้วย รักษาพยาบาล คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยคิดต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

อนึ่ง สามารถชำระเงินสมทบด้วยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหักเงินในบัญชีทุกวันที่ 15 ของเดือน หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส/เคาน์เตอร์ที่ทำการไปรษณีย์