ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยใช้เงินกองทุนบัตรทองจ่ายช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายได้แล้ว หลังเคยถูกตีความว่าผิดวัตถุประสงค์ ห้ามใช้ แต่บอร์ด สปสช.และรัฐบาลเกรงจะกระทบขวัญกำลังใจ ออกคำสั่ง ม.44 ให้สามารถใช้ได้ ล่าสุด สธ.ออกประกาศกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ 3 กรณี

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเคยมีมติให้นำงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติส่วนหนึ่งใช้เพื่อการนี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 (4) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่ในช่วงปี 2559 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ที่ต้องให้บริการประชาชน จึงไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนนี้ได้

รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า แต่เรื่องนี้ต้องขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ตลอจนบอร์ด สปสช.ทุกท่านที่เห็นว่าจะกระทบต่อขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขและส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในที่สุด จึงแก้ปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ให้สามารถนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขได้

หลังจากนั้น จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช่จ่ายอื่น ลงนามโดย นพ.ปิยะสกล รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ในหมวด 5 กำหนดรายละเอียดการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย 3 กรณีคือ

1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร 240,000-400,000 บาท

2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 100,000-240,000 บาท

3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท

ขั้นตอนคือ บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่หรือหน่วยบริการที่ปฏิบัติหน้าภายใน 1 ปี คณะอนุกรรมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องจะพิจารณาภายใน 30 วัน แต่หากมีเหตุปลจำเป็นสามารถอนุมัติขยายเวลาพิจารณาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช.โทร.1330

ทั้งนี้ มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุข จนถึงเดือน ม.ค.2559 นั้น ได้ช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหาย 4,570 ราย แบ่งเป็น เสียชีวิต 24 ราย พิการ 17 ราย บาดเจ็บ 4,529 ราย รวมเป็นเงิน 51,086,850 บาท ประเภทความเสียหาย เช่น ติดวัณโรคจากผู้ป่วย เข็มตำ ผู้ป่วยกระทำ สัมผัสสารคัดหลั่ง ของมีคมบาด อุบัติเหตุรถส่งต่อ เป็นต้น บุคลากรสาธารณที่ได้รับความเสียหาย ตามลำดับ ดังนี้ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ แพทย์ คนงาน เจ้าพนักงานสาธารณสุข และเภสัชกร