ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ทั้งระบบสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ (Benefit packages) และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาตินั้น นับเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติทั้ง 2 ระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบสุขภาพของประชากรต่างด้าวในประเทศไทย จากรายงานการศึกษาของขนิษฐา ภูสีมุง เรื่อง “การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ดังนี้

ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ

ขอบเขตและเงื่อนไขความคุ้มครอง

ควรปรับปรุงพัฒนาด้านขอบเขตและเงื่อนไขความคุ้มครองของผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับเงื่อนไขการจ้างงานและระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย

ยกเลิกเงื่อนไขระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ ในสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ ที่กำหนดไว้ว่าต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือน เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิบริการทางการแพทย์ได้ทันทีหลังจากที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน และลดภาระการจ่ายเงินเบี้ยประกันสุขภาพซ้ำซ้อนจากการซื้อบัตรประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกรณีคลอดบุตรอาจจะต้องคงเงื่อนไขระยะการเกิดสิทธิไว้เช่นเดิมเพื่อให้แรงงานข้ามชาติตระหนักและเห็นความสำคัญของการคุมกำเนิด

สิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์

ควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ในส่วนที่ยังด้อยกว่าระบบบัตรทอง เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบสุขภาพ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกในกรณีที่ผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตน, การบริการรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษา (นอกโรงพยาบาล), การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน และการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ (มาตรา 41) เป็นต้น

ควรมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้แก่ผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ รวมถึงมาตรการด้านงบประมาณที่ชัดเจน

การบริหารจัดการ

ควรออกแบบระบบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในกระบวนการเดียวกับขอใบอนุญาตทำงานของกรมการจัดหางาน หรืออนุญาตให้ใช้ใบเสร็จค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตทำงานเป็นเอกสารในการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมแทนได้ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น

ควรเข้มงวดการบังคัญใช้กฎหมายให้สถานประกอบการขึ้นทะเบียนแรงงานในระบบตามกฎหมายประกันสังคมให้ครบถ้วน และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนให้ต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ลูกจ้างเสียสิทธิประโยชน์ในระยะยาว

ข้อเสนอเพื่อพัฒนากองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว

ขอบเขตและเงื่อนไขความคุ้มครอง

เนื่องจากบัตรประกันสุขภาพมีระยะความคุ้มครองตามกำหนด เช่น 2 ปี,1 ปี, 6 เดือน, 3 เดือนดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการบังคับตามกฎหมายเพื่อมิให้แรงงานข้ามชาติหลีกเลี่ยงการซื้อบัตรประกันสุขภาพ รวมถึงการออกแบบระบบรองรับในกรณีที่บัตรประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติหมดอายุความคุ้มครอง เพื่อให้มีการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

สิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์

ปรับปรุงสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ ในรายการ (1) กรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน (2) การรักษาผู้ป่วยไตวาย (3) โรคเอดส์ (4) โรคมะเร็ง ให้เท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพสำหรับคนไทย ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ และเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นทั้งหมด

ปรับปรุงการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกรายการที่จำเป็น ให้เทียบเท่ากับระบบบัตรทอง เช่น ระบบเยียวยาแก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล (มาตรา 41) ยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึง การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายไต ทันกรรมฟันเทียม รากฟันเทียม การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยยาเสพติด ผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นต้น ทั้งนี้การเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านการเงิน และสถานะบุคคล และควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการประกันความเสี่ยงร่วมด้วย

ควรยกเลิกข้อกำหนดที่ให้แรงงานข้ามชาติเข้ารับการรักษาเฉพาะที่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น และควรให้เปลี่ยนหน่วยบริการประจำตามสิทธิได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เหมือนระบบประกันสังคม เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีการย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอด

ควรมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้แก่ผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ รวมถึงมาตรการด้านงบประมาณที่ชัดเจน

การบริหารจัดการ

กระทรวงสาธารณสุข ต้องมีมาตรการบังคับตามกฎหมายเพื่อมิให้แรงงานข้ามชาติหลีกเลี่ยงการซื้อบัตรประกันสุขภาพ และควรมีระบบการคุ้มครองครองสิทธิและความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เท่าเทียมและเอื้อต่อการใช้สิทธิทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ค่อนข้างเปราะบาง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประชากรข้ามชาติใน 31 จังหวัดชายแดนไทย

ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติในไทย

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติในไทย

การบริหารกองทุนสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

เรียบเรียงจาก

ขนิษฐา ภูสีมุงคุณ. (รายงาน) “การเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และการบริหารกองทุนของแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมและกองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว” ส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ โครงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ, มิถุนายน 2559.