ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอปิยะสกล ร่วมพิธีฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” จัดโดยองค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา ระบุ “เพราะว่าเรายากจน เราจึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้แทนไทย ได้ร่วมงานพิธีฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” จัดโดยองค์การอนามัยโลก ณ ห้องประชุมโรงแรมคราวน์พลาซา นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดคู่ขนานกับพิธีฉลอง ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการจัดพิธีฉลองเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากปีนี้เป็นก้าวย่างสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะร่วมกันขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นจริงตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเกียรติในการรับเชิญเป็น“แชมเปี้ยนการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ประจำปี ค.ศ. 2016 (UHC Day champion 2016) ร่วมกับผู้นำด้านสุขภาพของประเทศอื่นๆ และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายในระดับนานาชาติในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จและประชาชนทั่วโลกเข้าถึงบริการและมีสุขภาพดี

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ลดการล้มละลายของประชาชนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความท้าทายอย่างต่อเนื่องต่อไป ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพที่แต่ละประเทศเป็นเจ้าของ โดยพัฒนาภายใต้บริบทของประเทศและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันพัฒนา ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงชุมชนท้องถิ่น หากพวกเราร่วมกันเดินไปบนเส้นทางนี้ โดยมีประเทศเป็นเจ้าของ มีนโยบายจริงจังในการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและยั่งยืนแล้ว ในปี 2030 พวกเราจะได้กลับมายืนในวันนี้ร่วมกันอีกครั้ง เพื่อฉลองความสำเร็จ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและจะไม่ปล่อยให้ใครต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

“เพราะว่าเรายากจน เราจึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” 

นพ.ปิยะสกล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความชื่นชมความสำเร็จในหลายด้านที่ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ประเทศไทยมีนโยบายเพื่อพัฒนาและขยายความครอบคลุมในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 โดยเริ่มด้วยบัตรสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 390 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หลังจากนั้นการประกันสุขภาพของประเทศไทยก็มีวิวัฒนาการเป็นลำดับ โดยพัฒนาควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งยาวนานต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ จนถึงปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยบรรลุนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจในขั้นวิกฤตก็ตาม