ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ของปัญหา

ปัจจุบันองค์การแรงงานโลก (International Labor Organization - ILO) ประเมินว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์ ลาว กัมพูชาและอินโดนีเซียประมาณ 3,500,000 คน และแม้แรงงามกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักในภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเติบโต แต่ผลวิจัยของ ILO ในปี 2553 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีนักต่อแรงงานข้ามชาติ โดยระบุว่าคนไทย 78% เชื่อว่าแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ก่ออาชญากรรม และอีก 84% มีความเห็นว่าแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายและไม่สมควรได้รับใบอนุญาตทำงาน

แรงงานต่างด้าวมักเดินทางเข้ามาเป็นครอบครัว และมีสมาชิกในครอบครัวที่อายุต่ำกว่า 18 ปีติดตามมาด้วย จึงทำให้มีเด็กและเยาวชนข้ามชาติเข้ามาอยู่กว่า 370,000 คนในประเทศไทย แต่พวกเขากลับถูกละเลย อยู่นอกระบบสวัสดิการของแรงงานต่างด้าวที่จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่ข้ามชาติวัยทำงาน

ในปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายอนุญาตให้เด็กที่เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลเช่นเดียวกับเด็กทั่วไปตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติ มีเพียงโรงเรียนไม่กี่แห่งเท่านั้นที่รับเด็กกลุ่มดังกล่าวเข้าศึกษา เนื่องจากผู้บริหารและครูบางโรงเรียนเกรงว่าเด็กกลุ่มนี้จะทำให้คุณภาพของโรงเรียนต่ำลง และบางโรงเรียนก็ให้เหตุผลด้านงบประมาณเพราะต้องการควบคุมค่าอาหารกลางวัน และยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่ชาวไทยไม่อยากให้บุตรหลานของตนเรียนร่วมกับเด็กข้ามชาติ

ประเด็นที่น่าสนใจ (insights)

เด็กและเยาวชนบุตรหลานแรงงานข้ามชาติไม่ถูกรับรองและยังถูกกีดกันในกระบวนการขึ้นทะเบียน ทำให้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีและไม่รู้สิทธิของตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาที่เหมาะสมตามวัย โดยในจังหวัดสมุทรที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติมากที่สุดก็มีเพียง 4 โรงเรียนเท่านั้นที่รับนักเรียนข้ามชาติ

ลูกหลานแรงงานต้องเติบโตโดยที่ไม่ได้รับการศึกษา ขาดทักษะและอยู่อย่างไม่รู้ภาษา ทำให้ทำให้พวกเขาต้องถูกใช้แรงงาน ยอมถูกกดขี่ ทำงานแลกกับค่าแรงต่ำในสถานที่อันตราย และต้องอพยพถิ่นฐานไปตามการจ้างงาน เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์-ขายบริการ การล่อลวง และการเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบจากนายจ้า โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือและไม่สามารถหลุดจากวัฎจักรอันเลวร้ายเหล่านี้ได้

สังคมไทยยังคงกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขาอย่างรุนแรง นับตั้งแต่การแบ่งแยกทางสังคมระหว่างคนไทยและคนข้ามชาติ จนถึงกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การให้ใบอนุญาตทำงานที่มีความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแรงงานถูกกฎหมายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และขั้นตอนที่ซับซ้อน ไม่เป็นมิตรต่อคนข้ามชาติ และกระบวนการที่ทำให้คนข้ามชาติต้องพึ่งพานายจ้างในทุกการกระทำ

ขอบคุณ www.schoolofchangemakers.com