ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ฉายภาพความยุ่งเหยิง-อุปสรรคพัฒนาระบบสุขภาพเมืองกรุง เผย มีหน่วยบริการหลากหลายสังกัดแยกส่วนกันทำงาน-ไม่เคยคุยกัน นำไปสู่ความสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณ ระบุ คนกรุงมีวิถีชีวิตหลากหลายมาก นำไปสู่ความต้องการบริการสุขภาพที่แตกต่าง กังวลการคิดระบบเพื่อมารองรับไม่ง่าย

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2559 มีการจัดประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “มติ 8.3 ระบบสุขภาพเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” หัวข้อการรับฟัง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ.2560-2570) ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในเขตเมืองมีความซับซ้อน แต่ใน กทม.ทั้งซับซ้อนและยุ่งเหยิง หากพิจารณาเฉพาะเรื่องหน่วยบริการเพียงเรื่องเดียวจะพบว่า ในพื้นที่ กทม.มีโรงพยาบาลซึ่งอยู่ภายใต้สังกัด กทม.ประมาณ 10 แห่ง มีโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เหล่าทัพ ฯลฯ อีก 34 แห่ง มีโรงพยาบาลเอกชน 93 แห่ง มีคลินิกเอกชนกว่า 5,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นคลินิกอบอุ่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประมาณ 160 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุขทำงานปฐมภูมิ 68 แห่ง และยังมีร้านยาอีกกว่า 5,000 ร้าน ในจำนวนนี้เป็นร้านยาที่มีคุณภาพเพียง 200 ร้าน ซึ่งทั้งหมดนี้คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพเขตเมืองแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือหน่วยบริการทั้งหมดใน กทม.ให้บริการแยกขาดจากกัน กล่าวคือต่างคนต่างมีนโยบาย มีงบประมาณ และมีทิศทางเป็นของตัวเอง โดยไม่เคยมาพูดคุยกัน อาจมีเพียงการเชื่อมโยงเรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วยบ้าง แต่ฐานข้อมูลไม่มีความเชื่อมโยงกัน การรักษาระยะยาวที่ต้องการความต่อเนื่อง เช่น โรคเรื้อรังต่างๆ กำลังเป็นปัญหาใหญ่

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกระจายตัวของหน่วยบริการ โดยในอดีตจะกระจายจากตรงกลางออกไปชายขอบ ทว่าในปัจจุบันเมืองขยายตัวขึ้นไปจนถึงสุดชายขอบ นั่นทำให้การกระจายมีปัญหา ซึ่งเห็นได้จากในบางพื้นที่มี 3-4 โรงพยาบาลตั้งอยู่ติดกัน

"ทั้งหมดนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ เกิดความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น" นพ.วงวัฒน์ กล่าว

นพ.วงวัฒน์ กล่าวถึงโครงสร้างประชากรของผู้รับบริการในพื้นที่ กทม.ว่า ปัจจุบันข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ กทม.มีประชากรประมาณ 5.7 ล้านคน แต่จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีถึง 8.05 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบ 70% เป็นวัยทำงาน ขณะที่อีกเกือบ 14% เป็นผู้สูงอายุ