ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (PP Excellence Forum 2017) วันที่ 30 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีเวทีการนำเสนอต้นแบบการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ ในระดับพื้นที่ (PP Excellence Best practices) โดยเขตสุขภาพ ที่ 1 – 13 

เขตสุขภาพที่ 1

ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอในหัวข้อ “การบูรณาการค่ากลางงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มวัย ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่” โดยระบุว่า การจัดการสุขภาพชุมชนใน จ.เชียงใหม่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดยได้รับการจุดประกายจากกรมอนามัยและมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้อบรมเรื่องการทำงานแบบพหุภาคีและการประยุกต์วิทยากรกระบวนการให้แก่ อสม.ในพื้นที่

จากนั้นในปี 2551 เริ่มมีการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM) และแผนที่ฉบับปฏิบัติการ (SLM) จากนั้น จ.เชียงใหม่ ได้มีการประกาศใช้ค่ากลางในปี 2554 ซึ่งในพื้นที่ ต.ออนใต้ก็ได้นำค่ากลางทั้ง 4 เรื่องไปปรับใช้โดยอิงกับกิจกรรมสำคัญๆของ SLM ของกรมอนามัย เช่น การเฝ้าระวังโรค เมื่อเฝ้าระวังและได้ข้อมูลแล้ว ก็นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายกลุ่มผ่านดำเนินมาตรการทางสังคมและบรรจุในแผนสุขภาพของตำบล ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ดำเนินการโดย อสม.และหมออนามัยในพื้นที่ โดยที่ทางจังหวัดและอำเภอทำหน้าที่สนับสนุน ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิดชูและให้รางวัล

ร.อ.ภูรีวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ต่อมาในปี 2557 ทางจังหวัดได้คัดเลือก รพ.สต.ต้นแบบ เพื่อนำร่องบูรณาการค่ากลางต่างๆและได้คัดเลือกตำบลจัดการสุขภาพระดับดีเยี่ยม 5 ตำบล ซึ่งประกอบด้วย ต.ออนใต้ ต.สันทรายหลวง ต.หนองตอง ต.วังตาล และ ต.ทุ่งสะโตก หลังจากนั้นทางจังหวัดก็ได้ประกาศค่ากลางอีก 12 เรื่องเพื่อให้นำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ และในปี 2559 ทางเขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1 ได้จัดทำค่ากลางความสำเร็จ 5 กลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม และปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่ก็ประกาศปรับค่ากลางอีก 4 เรื่อง

“การบูรณาการจะใช้ตารางบูรณาการค่ากลางของ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยรวมโครงการต่างๆเหลือแค่ 2 โครงการ คือโครงการจัดการสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย และการจัดการสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผลของการบูรณาการค่ากลางของ ต.ออนใต้ ทาง อสม.สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของชาวบ้านได้จริง และทำโดยหมออนามัยและอสม.ล้วนๆ ทางจังหวัดมีหน้าที่แค่ให้กำลังใจและเชิดชูให้รางวัลเท่านั้น” ร.อ.ภูรีวรรธน์ กล่าว

ร.อ.ภูรีวรรธน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยความสำเร็จในการบูรณาการค่ากลางคือ 1.มีนโยบายชัดเจน 2.ต้องมี Change Agent ระดับ รพ.สต. กล่าวคือมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจกระบวนการ 3.การมี Change Agent ระดับชุมชน ซึ่งก็คือ อสม.ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน 4.ต้องเอาค่ากลางที่จังหวัดประกาศใช้ ไปปรับใช้ในระดับพื้นที่ และ 5.การติดตามอย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิดชูและให้รางวัลนั่นเอง

เขตสุขภาพที่ 2

นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 2 สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอในหัวข้อ “สร้างคนไทยคุณภาพ” โดยเล่าให้เห็นถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ว่ามีทั้งปัญหาแม่และเด็กเสียชีวิต เด็ก IQ ต่ำ คิดไม่ได้คิดไม่เป็น ปัญหาท้องก่อนวัยอันควรและวัยรุ่นใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นชุดปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหมด

ด้วยเหตุนี้ ทางเขตสุขภาพที่ 2 จึงถอดบทเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้มาใช้ในการปฏิบัติ โดยมีแนวคิดนำเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวมาเป็นตัวเดินเรื่องและตั้งเป้าในเรื่องการพัฒนาคนไทยเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0

ทั้งนี้ ขั้นตอนการปฏิบัติจะมี 6 ขั้นตอน คือ 1.การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ 2.การดูแลครรภ์คุณภาพ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงครรภ์อ่อน เป็นช่วงนี้สมองและใยประสาทของเด็กกำลังงอกงาม ต่อมาคือช่วงที่เด็กเริ่มสร้างอวัยวะให้สมบูรณ์ น้ำหนักตัวดี และช่วงระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนคลอด

3.การเตรียมคลอดคุณภาพ ในขั้นตอนนี้ ทีมที่ดูแลการตั้งครรภ์ต้องส่งข้อมูลมาให้ทีมทำคลอดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน เช่น เด็กต้องคลอดก่อนกำหนด ต้องมีการเตรียมตู้อบไว้ก่อน ไม่ใช่มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

4.การคลอดคุณภาพ เมื่อผ่านขั้นตอนตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์มาถึงการเตรียมคลอดแล้ว ในขั้นตอนนี้ก็หวังว่า APGAR score จะได้ 9 และ 10 เพื่อการันตีได้ว่าสมองของเด็กจะดีแน่นอน

5.การดูแลหลังคลอดคุณภาพ เน้นการกระตุ้นกายและจิตสัมผัส เพื่อให้เกิดการกระตุ้นสมองและพัฒนาการ

และ 6.การสร้างเสริมพัฒนาการ จินตนาการ และสติปัญญา โดยมี 3 keyword ที่ทำ คือ การกระตุ้นผ่าน play room, play ground และ play land

เขตสุขภาพที่ 3

นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ นำเสนอในหัวข้อ “กลยุทธ์การพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร เส้นทางสร้างเด็กไทย” โดยยกตัวอย่างพื้นที่ ต.หนองหลวง อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน สถานพยาบาล และภาคีเครือข่ายสุขภาพระดับชุมชน โดยตั้งเป้าร่วมกันว่าเด็กในพื้นที่นี้ต้อง “ดี เก่ง มีความสุข”

“ดี คือ เด็กที่นี่ไม่มีเรื่องการท้องในวัยเรียน ไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะ เก่ง คือ เด็กมีแนวโน้มคะแนนโอเน็ตสูงขึ้น มีการประกวดและได้รางวัลชนะเลิศต่างๆ มีสุข คือ สุขภาพดี เด็กอ้วนลดลง ฟันผุลดลง โรคต่างๆลดลง และมีระบบเฝ้าระวังในพื้นที่” นพ.ศักดา กล่าว

นพ.ศักดา กล่าวต่อไปว่า กระบวนการทำงานในพื้นที่จะเริ่มจากการคืนข้อมูลสุขภาพให้ชุมชน นำไปสู่การเรียนรู้ปัญหาและตั้งเป้าร่วมกันในชุมชน และเลือกที่จะเริ่มต้นพัฒนาที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นจุดที่สามารถพัฒนาคนได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกระบวนการทำงานผ่านโรงเรียนนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 โรงเรียน ทำงานแบบช่วยเหลือกันผ่านกระบวนการ KM และการนำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเข้าไปในโรงเรียนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งผลลัพธ์การทำงานที่ออกมานั้น ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร จำนวน 3 แห่งจากทั้งหมด 8 แห่ง สามารถผลักดันแผนสุขภาพเข้าสู่แผนของชุมชน ขณะเดียวกัน ก็เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายระยะต่อไปก็จะขยายผลให้โรงเรียนทั้ง 8 แห่งใน ต.หนองหลวง เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรครบ 100%

นพ.ศักดา กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญในการทำงานพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ก็คือ HEART ซึ่งเป็นตัวย่อจาก H : Head Heart Hand Health การรวมพลังเป็นหนึ่ง E: Ethics มุ่งมั่น มีคุณธรรมจริยธรรม A: Action มีเป้าหมายชัดเจน R: Relationship ความร่วมมือของชุมชน และ T: Team Work ทำงานร่วมกันเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ

เขตสุขภาพที่ 4

นางรุ่งทิวา มากอิ่ม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง นำเสนอในหัวข้อ “การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองอ่างทอง” โดยกล่าวว่า ในปี 2560 เทศบาลเมืองอ่างทองได้รับการประสานจากศูนย์อนามัยที่ 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง โรงพยาบาลอ่างทอง ให้ร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีด้านสาธารณสุข ซึ่งเทศบาลสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องหญิงตั้งครรภ์ ทารก วัยเรียน วันรุ่น วัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มวัยผู้สูงอายุ

นางรุ่งทิวา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง ในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง มีจำนวนมากขึ้น ทางฝ่ายบริหารจึงมีนโยบายพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวแบบองค์รวม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 โดยมีกระบวนการทำงานประกอบด้วย 1.มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง 2.มีการระดมทุนจากทุกภาคส่วน 3.มีคณะกรรมการบริหารดูแลที่ดี 4.มีหน่วยงานสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

เขตสุขภาพที่ 5

นพ.ศราวุฒิ ตั้งศรีสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี นำเสนอในหัวข้อ “GREEN & CLEAN Hospital” โดยกล่าวว่า โรงพยาบาลได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในการดำเนินโครงการ GREEN & CLEAN Hospital คือ เป้าหมายต้องชัดเจน ขอบเขตต้องชัดเจน และวิธีทำต้องชัดเจน นอกจากนี้ต้องใช้หลักวิชาการทุกขั้นตอน ในส่วนของ Input ต้องประหยัด Process ต้องเรียบง่าย และ Output ต้องได้ประโยชน์สูงสุด

นพ.ศราวุฒิ ขยายความว่า ในส่วนของ GREEN คือกิจกรรม กล่าวคือ G : Garbage โรงพยาบาลกำหนดเป้าว่าต้องเป็น Zero waste product management คือต้องไม่มีขยะในโรงพยาบาล R : Restroom ห้องน้ำต้องสะอาดและกำหนดเป้าว่า Zero waste water management ต้องไม่มีน้ำเสียจากโรงพยาบาลออกสู่ชุมชน E : Energy ตั้งเป้า Zero waste energy management ต้องไม่มีพลังงานที่สูญเสียและไร้ประโยชน์เกิดขึ้นในโรงพยาบาล E : Environment ตั้งเป้าว่าโรงพยาบาลต้องเป็น Healing environment และ N : Nutrition อาหารของโรงพยาบาลต้องเป็น Food safety

ขณะที่ CLEAN จะเป็นส่วนของกลยุทธ์ กล่าวคือ C : Communication ใช้การสื่อสารในการสร้างทีมเวิร์ค L : Leader ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงภาวะผู้นำ E : Effective & Efficiency ทำอย่างไรก็ได้เพื่อลดต้นทุน A : Activity กิจกรรมต่างๆ ต้องมีความยั่งยืนและต่อเนื่อง และ N : Network การสร้างเครือข่ายไปสู่ชุมชน

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังทำ Conceptual framework ด้วย 4Ps เพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลาย โดยในส่วนของProcess นั้นได้ใช้หลัก 6R ในการดำเนินการ ประกอบด้วย Refuse ไม่ใช่โฟม Reduce ลดการใช้สิ่งต่างๆ 2 ตัวนี้เป็นการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ส่วน Reuse, Repair และ Recycle เป็นเรื่องของการ Management เพื่อนำทรัพยากรมาใช้ซ้ำ และสุดท้าย Residual สิ่งของต่างๆเมื่อผ่าน R ทั้งหมดแล้วเหลือเป็นของเหลือใช้ ก็จะทำให้เป็นศูนย์ เพื่อบรรลุ Zero ต่างๆ ต่อไป

เขตสุขภาพที่ 6

นางภารณี วสุเสถียร ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 นำเสนอในหัวข้อ “Let’s grow เติบโต โชว์ศักยภาพ” ซึ่งเป็นกิจกรรมจัดค่ายเยาวชนที่เป็นบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ อายุระหว่าง 5-17 ปี มาทำกิจกรรม โดยใช้ PIRAB เป็นกลวิธีทำค่าย คือ Partnership & Participation ได้แก่เครือข่ายและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การร่วมคิดร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมประเมินผล เกิดเป็น Team working และ Networking, Investment มีการลงทุน ทั้งงบประมาณ เวลา แรงกายแรงใจการเสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ, Regulation มีการสร้างวินัย สร้างกฎเกณฑ์ในการทำงานร่วมกัน, Advocacy ให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นและศรัทธาในการดำเนินงานของทีมงานและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดทำค่ายจนได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและเด็ก และ Building Capacity คนทุกกลุ่มวัยได้รับการพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น และสามารถถ่ายทอดต่อไป

สำหรับวัตถุประสงค์ของค่ายเยาวชน Let’s grow เติบโต โชว์ศักยภาพ ก็เพื่อส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตและพัฒนาทักษะชีวิตแก่เยาวชน ภายใต้กรอบแนวคิด “กิน เล่น เที่ยว” กิน คือกินเป็น กินถูก เลือกเป็น เล่นคือ เล่นคือเรียน เรียนคือเล่น เพื่อพัฒนาสมองทุกด้าน และ เที่ยว เพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้ธรรมชาติและภาวะแวดล้อมรอบตัว โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี มีทักษะทางสังคม มีสติปัญญา เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ กิจกรรมในค่ายจะมี 4 ฐาน คือ

ฐานที่ 1 การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเป็นเมืองชายทะเล จึงให้เด็กเรียนรู้ธรรมชาติของทะเล ประโยชน์และอันตรายของทะเล ชีวิตสัตว์ทะเล สภาพอากาศ ตลอดจนอาหารทะเล

ฐานที่ 2 พิษภัยของสัตว์ทะเลและการปฐมพยาบาล เพื่อให้เด็กเรียนรู้อันตรายต่อทะเลและสัตว์ทะเล สามารถป้องกันและช่วยตัวเองได้เมื่อประสบภัยนั้นๆ

ฐานที่ 3 การกางเต๊นท์ก่อกองไฟเพื่อการใช้ชีวิตในธรรมชาติ เพื่อให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย

และ ฐานที่ 4 นวดกตัญญู เป็นกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้วิธีการนวด เพื่อให้เด็กใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว

นางภารณี กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการทำกิจกรรมนี้ นอกจากได้ Model การพัฒนาศักยภาพเด็กทั้ง 4H คือ Head Heart Hand และ Health แล้ว ยังมีเป้าหมายให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้คนเป็น และมีความสุข เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อลดปัญหายาเสพติดและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดย Model นี้ยังสามารถขยายผลไปสู่บ้าน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการได้อีกด้วย

เขตสุขภาพที่ 7

นางทัศนีย์ รอดชมพู นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น นำเสนอในหัวข้อ “การพัฒนาระบบส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยใช้คู่มือ DSPM และสื่อพื้นบ้าน” โดยยกตัวอย่างต้นแบบระบบส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ ต.หนองกุง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม

นางทัศนีย์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยใน ต.หนองกุง เนื่องจากปี 2559 พบว่าเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า แต่ผู้ปกครองยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย ดังนั้น บุคลากรที่ปฏิบัติงานในเรื่องนี้จึงแสวงหาแนวร่วมในการทำงาน และมีมติร่วมกันทุกหมู่บ้านใน ต.หนองกุง ว่าจะพัฒนาครู ข. โดยให้ชาวบ้านเลือก อสม.หมู่บ้านละ 3 คนมาอบรมเชิงปฏิบัติการว่าจะกระตุ้นพัฒนาการการเด็กได้อย่างไร รวมทั้งอบรมผู้ปกครองทุกคนในทุกหมู่บ้านจำนวน 180 คนด้วย

นอกจากนี้แล้ว เมื่อหลังอบรมเสร็จก็ยังมีมาตรการชุมชน กล่าวคือให้ผู้ปกครองทุกหมู่บ้านพบกับครู ข. เดือนละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก เมื่อดำเนินการทุกเดือนๆ ก็เกิดการเรียนรู้จนกระทั่งผู้ปกครองมีทักษะกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้เอง สามารถผลิตของเล่นเพื่อกระตุ้นพัฒนาการได้เอง

“เราพบว่าระบบส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่นี่ จะมีระบบเฝ้าระวังและกระตุ้นพัฒนาการในชุมชนอย่างชัดเจน มีระบบคัดกรองที่ถูกต้องและครอบคลุม มีระบบส่งต่อในรายที่สงสัยว่ามีพัฒนาการล่าช้า และติดตามในรายที่ได้รับการรักษา ครอบคลุมทุกคน รวมทั้งมีระบบรายงานที่สมบูรณ์ ซึ่งจากการใช้ค่ากลางทั้ง 6 กิจกรรมไปถอดบทเรียน พบว่าทั้ง 6 กิจกรรมมีงานสำคัญครบถ้วน” นางทัศนีย์ กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาในก้าวต่อไป ทางเขตสุขภาพที่ 7 จะนำค่ากลางความสำเร็จไปใช้เป็น Input ในการพัฒนาครู ข. ให้ครอบคลุมทั้งเขตสุขภาพต่อไป

เขตสุขภาพที่ 8

นพ.ยุทธชัย ตริสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม จ.นครพนม นำเสนอในหัวข้อ “การส่งต่อผู้ป่วยพรมแดน นครพนมแขวงคำม่วน สปป.ลาว : คำม่วน นครพนม Refer” โดยให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลนครพนมมีบุคลากร 1,100 คน เป็นแพทย์ 58 คน ขณะที่แนวโน้มผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 300,000 Visit/ปี ส่วนผู้ป่วยในยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ในบางข้อ เช่น อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2.7% จากเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2%

ทั้งนี้ ผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ป่วยในส่วนใหญ่เป็นการคลอดและผู้ป่วยนิวมอเนีย ขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากโรคหัวใจ เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จ.นครพนมก็ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของประเทศ

ในส่วนของระบบการส่งต่อ คำม่วน-นครพนม Refer นพ.ยุทธชัย กล่าวว่า จ.นครพนม มีเขตแดนติดกับประเทศลาวประมาณ 175 กม. ในปี 2556 ได้ทำการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินบนสะพานข้ามแม่น้ำโขงและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศลาวในการเข้าร่วมฝึกซ้อมด้วย เช่นเดียวกับปี 2558 ก็มีการซ้อมแผนรับมืออุบัติภัยทางน้ำและคัดกรองผู้ป่วยบาดเจ็บ

เขตสุขภาพที่ 9

พญ.ศรัญญา พันธ์ทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ นำเสนอในหัวข้อ “80 ปี สุขภาพดีที่คอนสวรรค์” อำเภอ Long Term Care โดยนำเสนอในรูปแบบของการเปิดวิดีโอที่มีเนื้อหาแนะนำพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ ว่ามี 9 ตำบล ประชากร 52,400 คน และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 16.96% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2559 ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีโครงการดูแลผู้สูงอายุภายใต้แนวคิด “สุขภาพดี วิถีชีวิต ไทยคอนสวรรค์” ดำเนินการโดยคณะกรรมการสุขภาพอำเภอซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน มีการจัดระบบการทำงานให้เกิดหมอครอบครัวที่ไม่ใช่แค่หมอครอบครัวของโรงพยาบาล แต่เป็นทีมที่บูรณาการบุคลากรจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุและหาทางแก้ไขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น ในปี 2559 ทาง อ.คอนสวรรค์ ได้รับทราบนโยบายการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพอำเภอคิดว่านี่คือหนทางแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน จึงเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานพร้อมกันทั้งอำเภอในทุกภาคส่วน โดยดำเนินการในรูปแบบศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุหรือ Care Manager ศูนย์ละ 2 คน และมีผู้ช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุหรือ Care Giver อยู่ด้วย ขณะที่ทางโรงพยาบาลคอนสวรรค์และเครือข่ายจะสนับสนุนในด้านวิชาการ

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมภายในศูนย์จะมีการพบปะกันของผู้สูงอายุในทุกวันพฤหัสบดี เพื่อหาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ รวมทั้งจัดบริการเชิงรุกด้วยการเยี่ยมผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ตามแผนการดูแลรายบุคคลหรือ Care Plan มีการสื่อสารการทำงานเพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างทีม และทีมหมอครอบครัวผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ โดยจะมีการประชุมสรุปงานทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน และสรุปผลการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพึงทุก 3 เดือน เพื่อส่งข้อมูลต่อให้คณะอนุกรรมการ Long Term Care ต่อไป

เขตสุขภาพที่ 10

นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี นำเสนอในหัวข้อ “การสร้างเด็กไทยเขตสุขภาพที่ 10 ไอคิวดี เติบโตดี เริ่มต้นที่ครอบครัวคุณภาพ” โดยเล่าถึงที่มาว่า เริ่มต้นจากคำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนในเขตมีสุขภาพที่ดีโดยใช้ทฤษฎี Life Course Approach เป็นแกนหลัก เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลประชากรในทุกช่วงวัยแล้ว พบว่ายังมีประเด็นช่องว่างด้านสุขภาพในส่วนของวัยเด็ก

“ข้อมูลที่เราเจอคือ เจอแม่ที่มีอาการซีดเหลืองประมาณ 30% พอแม่ซีดเหลือง ก็ทำให้เด็กมีน้ำหนักหลังคลอดต่ำ ทำให้พัฒนาการล่าช้า ที่สำคัญมีการสำรวจ IQ, EQ พบว่า 5 อันดับจากท้ายอยู่ในพื้นที่เขต 10 ทั้งหมด เช่นเดียวกับผลสำรวจทางการศึกษาของ PISA พบว่านักเรียนพื้นที่เขต 10 ก็อยู่ลำดับท้ายๆ เช่นกัน อันนี้เป็นวิกฤติและโอกาสในการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น” นพ.สราวุฒิ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหารของเขต 10 จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรเริ่มที่การพัฒนาเด็กให้เป็น Smart Kids และเติบโตเป็น Smart Citizen โดยใช้กลยุทธ์ PIRAB เช่น Partnership ทางผู้บริหารต้องเห็นพ้องแล่ะรวมขับเคลื่อนด้วยกันทั้งเขต งบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปี 2560 ต้องทุ่มลงไปในจุดนี้ นอกจากนี้ยังมีการทำ MOU 4 กระทรวง ในเดือน พ.ย. 2559 เพื่อให้ความสำคัญว่าปัญหานี้คือปัญหาร่วมกันทั้งเขต ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียว

ขณะที่ในส่วนของ Regulate ต้องมีการติดตามกระบวนการขับเคลื่อน การติดตามไม่ใช่ลักษณะของการชี้นำ แต่เป็นการเสริมพลังให้พื้นที่ ส่วน Advocate นั้น ทางเขตเริ่มคิกออฟการดำเนินการทั้ง 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 ในวันที่ 1 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

“ส่วน Building Capacity เรามีเป้าการพัฒนาเด็กปฐมวัย 4 ใน 6 Setting คือ ทำอย่างไนให้พ่อแม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรให้ ANC มีคุณภาพ คลอดคุณภาพ เด็กเล็กมีคุณภาพ และโรงเรียนมีความเข้มแข็ง สิ่งที่เราทำพร้อมกันคือการสร้าง Health Literacy ในบริบทของพื้นที่ แจกโฟเลตให้เด็กวัยเจริญพันธุ์ที่จดทะเบียนสมรส การให้องค์ความรู้ของพ่อแม่ มีการทำ Effective Fast Track ในกลุ่มหลังคลอด มีการทำเรื่อง Smart Kids โดยการกินนมแม่และวิตามิน ส่วนในโรงเรียนเราก็แจกทั้งโฟเลตและธาตุเหล็ก โดยโรงเรียนก็ต้องร่วมกำกับและติดตามด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการวัดผลในสิ้นปีนี้” นพ.สราวุฒิ กล่าว

เขตสุขภาพที่ 11

นพ.บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นำเสนอในหัวข้อ “จาก Best Practices สู่มาตรการ PP Excellence” โดยกล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 11 เน้นเรื่อง Start up 4.0 และ PIRAB โดยมีเป้าประสงค์คือ ในระดับบุคคล ต้องการให้ประชาชนมี Self-care มี Health Literacy, Health Behavior ที่เข้าถึงแก่นของการจัดการ ในระดับครอบครัวต้องการให้เกิดอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) เป็น Care Giver ที่ผ่านการขึ้นทะเบียน ส่วนระดับชุมต้องต้องการให้มี อสม.ที่เป็น Digital Volunteer สามารถจัดการสุขภาพได้ทุกที่ทุกเวลา และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมาตรฐานการบริหารระบบสุขภาพชุมชน

ทั้งนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่เป้าประสงค์นั้น นพ.บัญชา ยกตัวอย่างที่สำคัญ 2 ข้อ คือ 1.การขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบประชารัฐด้วยกลยุทธ์ PIRAB โดยจะมีคณะกรรมการสุขภาพจังหวัด เพื่อเป็นกลไกเชื่อมต่อกับเครือข่ายหน่วยงานราชการต่างๆเพื่อขับเคลื่อนในเรื่อง Health in all policies และมีการเชื่อมต่อในระดับคณะกรรมการสุขภาพอำเภอ

2.การทำให้มีโรงพยาบาลออนไลน์เพื่อส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ สามารถให้ประชาชนที่มีความรู้เข้าถึงเพื่อคัดกรองและ ประเมินตัวเอง สามารถเข้าถึง Health Literacy แบบเฉพาะตัว ขณะที่ระบบของภาครัฐ เช่น อสม. อสม.จะเข้าไปสนับสนุนการจัดการสุขภาพได้เบ็ดเสร็จในพื้นที่เดียวกัน ทุกที่ทุกเวลา

ทั้งนี้ นพ.บัญชา ยังได้ยกตัวอย่างงานส่งเสริมสุขภาพที่น่าสนใจในเขตสุขภาพที่ 11 เช่น จ.นครศรีธรรมราช มีการให้เด็กวัยรุ่น เป็นแกนนำการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การป้องกันการติดยาเสพติด และการดูแลผู้สูงอายุ หรือที่ จ.กระบี่ มีการขับเคลื่อนเรื่อง อสค.ดิจิตอล เพื่อบริหารระบบโรงพยาบาลออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา และที่ จ.ภูเก็ต ทำเรื่องการเปลี่ยนวิถีชีวิตในร้านกาแฟ ด้วยการให้ อสม.เข้าไปวัดความดัน พูดคุยและแนะนำความรู้เรื่องสุขภาพต่างๆในร้านกาแฟที่เป็นจุดพบปะสังสรรค์ของคนในชุมชน เป็นต้น

เขตสุขภาพที่ 12

ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา นำเสนอในหัวข้อ “ร้านยาคุณภาพ ด่านหน้าสุขภาพคนเมือง” โดยกล่าวว่าหลายจังหวัดคงประสบปัญหาประชาชนในเขตเมืองไม่ยอมไปตรวจคัดกรองหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากรู้สึกว่าเสียเงินและเสียเวลา ด้วยเหตุนี้ ร้านขายยาใกล้บ้านจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงบริการ

“ปัจจุบันมีร้านยาคุณภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มีเภสัชกรทำงานเต็มเวลา สามารถคัดกรองและช่วยส่งต่อคนไข้ได้ กระจายอยู่ในเขตเมือง หากเอาตรงนี้มาช่วยสร้างความครอบคลุมในเรื่องการเข้าถึงบริการในชุมชนเขตเมือง ก็จะช่วยเติมเต็มและเกิดการเชื่อมต่อบริการระหว่างร้านยากับหน่วยบริการ”ภญ.วิไลวรรณ

ด้วยเหตุนี้ จ.สงขลา จึงได้จัดทำโมเดลการส่งต่อขึ้นมา โดยให้เภสัชกรในร้านขายยาที่ผ่านการฝึกอบรมการคัดกรองคนไข้ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยไปหน่วยบริการ โดยมี Fast Track กับหน่วยเวชกรรมครอบครัวของโรงพยาบาลหาดใหญ่ หากคนไข้นำใบส่งตัวมอบให้ไปหน่วยบริการจะได้รับการตรวจหรือรักษาอย่างรวดเร็ว วิธีนี้ทำให้คนไข้ที่ไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะต้องรอตรวจนาน ให้ความสนใจและเข้าสู่ระบบบริการมากขึ้น

“ในปี 2559 เราคัดกรองไป 6,000 ราย พบผู้มีความเสี่ยง 700 กว่าราย ในจำนวนนี้ถูกแนะนำให้เข้าระบบการรักษาด้วยระบบ Fast Track และพบว่ามีคนที่เกิดภาวะโรค 55 คน หากคนกลุ่มนี้ไม่ถูกคัดกรอง ก็จะเกิดโรคและมีค่ารักษาพยาบาลตามมามากมาย”ภญ.วิไลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการในเรื่องการเติมยา โดยคนไข้ที่อาการคงที่แล้ว สามารถไปรับยาที่ร้านยาคุณภาพได้ รวมทั้งจะขยายผลในเรื่องการเยี่ยมบ้าน และการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) ด้วย

เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำเสนอในหัวข้อ “มหานครแห่งโอกาส เพื่อสุขภาพสำหรับทุกคน” โดยชี้ให้เห็นว่า กทม.มีบริบทเฉพาะ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีงบประมาณปีละ 75,000 ล้านบาท มีสภา กทม.ที่สามารถออกข้อบัญญัติด้วยตัวเอง จุดนี้เป็นโอกาสในการลงทุนส่งเสริมและป้องกันโรคและการออกนโยบายสาธารณะและกฎกติกาต่างๆ

นอกจากนี้ กทม.ยังมีความสลับซับซ้อนในด้านสังคมและรายได้ มีโรงเรียน 1,000 กว่าแห่ง มีหน่วยบริการสาธารณสุขอีกจำนวนมาก เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง เช่น คลินิกเอกชนทุกประเภท และหน่วยบริการของภาครัฐ ส่วนหน่วยบริการระดับทุติยภูมิก็มีโรงพยาบาลอีกจำนวนมาก และมีศักยภาพในการรักษาได้ทุกโรค จุดนี้จึงเป็นโอกาสในการสร้าง Partnership

ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีความหลากหลายของวิถีชีวิต มีกลุ่มคนในสังคมสมัยใหม่ไปจนถึงสังคมกึ่งชนบทในพื้นที่ชายขอบของ กทม. มีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมาก จุดนี้เองเป็นโอกาสในการพัฒนา Skill ของบุคลากร

“กทม.จึงเป็นมหานครแห่งโอกาสเพื่อสุขภาพสำหรับคนทุกคน เมื่อเราทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็คงต้องถามตัวเองว่าจะจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร ใช้กลยุทธ์แบบไหน ต้องการบุคลากรให้มี Skill แบบไหน การดำเนินการให้ประสบความสำเร็จต้องสอดคล้องกับบริบทจำเพาะของกลุ่มเป้าหมาย มีชุมชนเป็นเจ้าของ โดยเจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุน และสุดท้ายคือการขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่” นพ.วงวัฒน์ กล่าว