ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เล็งปรับสิทธิประโยชน์โรคค่าใช้จ่ายสูงให้แรงงานข้ามชาติ ให้เวลาคณะทำงาน 3 เดือนรวบรวมข้อมูล พร้อมเตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติระยะ 20 ปีอีกด้วย

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว/แรงงานต่างด้าว ปีงบประมาณ2560” แทน พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า โดยภาพรวมการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้ เน้นหนักในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอง ก็อยู่ระหว่างรวบรวมแผนงานเกี่ยวกับสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีเช่นกัน โดยหลักการคือแรงงานข้ามชาติในฐานะคนทำงาน ควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด ขณะที่การจัดระบบดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติของ สธ. เหมือนเป็นช่วงระหว่างทางในการผลักดันกลุ่มแรงงานให้เข้าสู่ประกันสังคม ซึ่งก็ต้องจัดระบบ กำหนดทิศทางในระยะต่อไปว่าจะมีแนวทางอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ ทิศทางของกองทุนคนข้ามชาติ/แรงงานข้ามชาติจะเดินอย่างไร เป็นต้น

“วิสัยทัศน์ระยะ 20 ปีของรัฐบาลในการดูแลแรงงานต่างด้าวก็จะดูแลเรื่องสุขภาพด้วย ในต่างประเทศอย่างอเมริกาในอดีตก็มีการอพยพคนมาจากยุโรปเข้ามาทำงาน หรือพูดง่ายๆ ว่ามาขุดทอง คนกลุ่มนี้ก็เหมือนกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสิ่งแรกที่รัฐบาลอเมริกามีนโยบาย ก็คือการดูแลเรื่องสุขภาพ ให้ความสำคัญกับเรื่องอาชีวอนามัย จนผ่านไป 200 ปีจากประเทศกำลังพัฒนาก็กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในส่วนของประเทศไทยเอง ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในบางส่วน ซึ่งหากไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน ก็จะมีปัญหามากขึ้นมนอนาคต” นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.พิทักษ์พล กล่าวต่อไปอีกว่า ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้ประกันตนคนข้ามชาติ ยังมีแนวคิดในการปรับสิทธิประโยชน์โรคค่าใช้จ่ายสูง (High Cost) โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานไปศึกษาข้อมูลต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน ตัวอย่างเช่น การคลอดบุตร หากเคลมค่าใช้จ่ายแบบเดิม หน่วยบริการเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากเป็นการคลอดแบบพิเศษ อาจต้องเคลมค่าใช้จ่ายที่ส่วนกลางหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งคณะทำงานจำเป็นต้องมีข้อมูลต่างๆ ที่ชัดเจน จึงจะสามารถพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมได้

นพ.พิทักษ์พล กล่าวอีกว่า จากที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในส่วนของคณะที่ 4 เป็นคณะกรรมการที่ดูเรื่องระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ซึ่งในจุดนี้ จะได้นำสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติเข้าไปพิจารณาเทียบเคียงกับสิทธิประโยชน์ของกองทุนอื่นๆ เพื่อดูว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด และทิศทางใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่โดยหลักการแล้ว สิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติก็ต้องเท่าเทียมกับกองทุนอื่นๆ ด้วย